ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า จากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ และความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตะวันออกกลาง จึงหนุนให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำและค่าเงินเยน ขณะที่ดัชนีดอลลาร์เช้านี้ปรับตัวลงมาแถวระดับ 98.80
ด้านค่าเงินเยนแข็งค่าแตะระดับ 119.09 เยน/ดอลลาร์ในเช้านี้ จากระดับ 120.18 เยน/ดอลาร์ ขณะที่เช้านี้ค่าเงินยูโรทรงตัวแถวระดับ 1.0836 ดอลลาร์/ยูโร
ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวน 0.15% สู่ระดับ 6.5032 หยวน/ดอลลาร์ จึงทำให้เมื่อวานนี้ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2001
นายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวย้ำว่า เขาไม่มั่นใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวจะเป็นเครื่องมือที่เพียงพอสำหรับการสร้างเสถียรภาพของตลาดการเงินในช่วงวิกฤติ ซึ่งเฟดควรใช้เครื่องมือเพิ่มเติมที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ISM เผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ประจำเดือนธันวาคมปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 48.2 และสอดคล้องกับข้อมูล PMI ของภาครัฐบาลหลังดัชนี Final Manufacturing PMIขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปีในเดือนธันวาคมที่ระดับ 51.2
นักวิเคราะห์จากรอยเตอร์ส ระบุว่า ภาคการผลิตของสหรัฐฯได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณการลงทุนในภาคธุรกิจใหม่มีการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 นอกจากนี้ การตัดลดค่าใช้จ่ายในภาคพลังงานส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างร่วงลงในเดือนพฤศจิกายนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 1 ปีครึ่ง จึงยังบ่งชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจและภาคการผลิตในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาของสหรัฐฯขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย
ด้านผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธันวาคมของเยอรมนีขยับขึ้น 0.2%เมื่อเทียบรายปี แต่ยังต่ำกว่าระดับ 0.4% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จึงสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่อีซีบีกำหนดไว้ 2% จึงอาจทำให้อีซีบีอาจมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการผลักดันเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่กำหนด
เมื่อวานนี้ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนในช่วงแรกจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจลุกลามและทวีความรุนแรง ก่อนจะอ่อนแรงลงมาปิดตลาดแดนลบ โดยน้ำมันดิบ WTI ปิด -0.8% ที่ระดับ 36.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brentปิด -0.2% ที่ระดับ 37.22 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยตลาดยังคงมีแรงกดดันจากปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะอุปทานน้ำมันที่สูงเกินไป หลังจากสต็อกน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะอุปสงค์ที่เซบเซา
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านจากเหตุการณ์ประท้วงและทำลายสถานทูตของซาอุดิอาระเบียของอิหร่านในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวานนี้รัฐบาลซูดานของซาอุดิอาระเบียได้ทำการขับไล่นักการทูตของอิหร่านออกจากประเทศซาอุดิอาระเบีย
ขณะที่มีรายงานว่า ประเทศบาห์เรนประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านเช่นเดียวกัน และด้านของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านจึงส่งผลให้นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่กังวลต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองดังกล่าว