ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่หลังข้อมูลเงินเฟ้อของยูโรโซนปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาด โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ขึ้นมาอยู่แถวระดับ 99.40
ด้านค่าเงินยูโรปรับตัวลงมาที่ระดับ 1.0740 ดอลลาร์/ยูโร โดยอ่อนค่าจากระดับ 1.0832 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนทรงตัว 119.07 เยน/ดอลลาร์
โกลด์แมน แซคส์ เผยว่า ดัชนียอดการขายในห้างค้าปลีกสหรัฐฯประจำสัปดาห์ปรับตัวลดลง 2.4% เพราะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศทีส่งผลต่อการบริโภคในเขตมิตเวสต์
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจยุโรป พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับตัวลงเกินคาดแต่ยังคงทรงตัว 0.2% และอยู่ในแดนบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ Core CPI ทรงตัวระดับเดิม 0.9%
เช้านี้ Caixin เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมาออกมาแย่เกินคาดแตะระดับ 50.2 และยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญ (1.3 แสนล้านหยวน) เข้าสู่ระบบการเงินจีนเพื่อลดความตื่นตระหนกของนักลงทุน หลังจากตลาดหุ้นจีนร่วงลงอย่างหนักจึงต้องใช้การ Circuit Breaker เพื่อลดความผันผวนของตลาด
ขณะที่ข้อมูลปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟของจีนในปี 2015 ที่ปรับตัวลดลงเป็นประวัติการณ์ ยังคงสะท้อนถึงภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน และข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันได้
น้ำมันดิบ WTI ปิด -2.2% ที่ระดับ 35.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -2.2% เช่นกันที่ระดับ 36.42 ดอลลาร์/บาร์เรล เพราะได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และกลุ่มนักลงทุนในตลาดมีความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านจะส่งผลต่อความร่วมมือของกลุ่มโอเปคในการผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก ANZ ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านถือเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันดิบ เพราะจะทำลายความร่วมมือของชาติอาหรับในการลดกำลังปริมาณการผลิตเพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันฟื้นตัว และอาจทำให้ภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดมากขึ้น จึงทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบยังอยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่บริษัทนำมันดิบในสหรัฐฯประกาศเตรียมส่งออกน้ำมัน หลังสภาคองเกรสยกเลิกกฎการส่งออกน้ำมันที่บังคับใช้มากว่า 40 ปี
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุดรัฐบาลคูเวตเรียกให้เอกอัครราชทูตกลับจากอิหร่าน เนื่องจากการโจมตีสถานทูตของซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นถือเป็นการละเมิดสัญญาระหว่างประเทศ และค้านกับคำยืนยันในการรักษาความปลอดภัยสำหรับหน่วยงานทางการทูตภายในประเทศของอิหร่าน
ขณะที่สหรัฐฯ และจีนยังคงมีความกังวลและต้องการให้ทั้งสองฝ่ายแสดงความอดกลั้นไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมากกว่านี้ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการหันหน้าเจรจาเพื่อบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ขณะที่ตุรกีเสนอเป็นคนกลางเพื่อบรรเทาความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน เชื่อว่า การเจรจาด้วยวิธีทางการทูตจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาระหว่างสองประเทศ