ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและเยนเมื่อคืนนี้ โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ยังทรงตัวแถวระดับ 99.25 ด้านค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยที่ระดับ 1.0775 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0751 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนเช้านี้แข็งค่าบริเวณ 118.66 ดอลลาร์/เยน จากระดับ 119.04 ดอลลาร์/เยน
ค่าเงินหยวนยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวานนี้อ่อนค่าลงอีก 1.45% สู่ระดับ 6.5314 หยวน/ดอลลาร์ และเช้านี้ยังปรับอ่อนค่าต่อบริเวณ 6.5467 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งยังปรับอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2011
นักวิเคราะห์ตลาดการเงินส่วนใหญ่ เชื่อว่า การที่จีนปรับลดค่ากลางของเงินหยวนต่อไป ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากมีมุมมองว่าสภาพเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะอ่อนแอจึงต้องพึ่งพาการอ่อนค่าของเงินหยวน เพื่อกระตุ้นภาคการส่งออกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ พบว่า การจ้างงานภาคเอกชนประจำเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเกินคาดที่ระดับ 257,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้น 46,000 ตำแหน่งจากข้อมูลปรับทบทวนในเดือนก่อนหน้า จึงยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ช้าลงในไตรมาสที่ 4/2015 ขณะที่ยอดงบดุลการค้าประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาดีขึ้นเกินคาดโดยมียอดขาดดุลลดลง 2.2 พันล้านเหรียญ ที่ระดับ 4.24 หมื่นล้านเหรียญ
ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนขยายตัวตามคาดที่ระดับ -0.2% โดยยังคงออกมาแย่ลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ขณะที่ ISM เผยภาคบริการของสหรัฐฯขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนธันวาคมแตะระดับ 55.3
สรุปรายงานการประชุมเฟดประจำเดือนธันวาคม ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด กล่าวว่า การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งของเฟดในปีนี้เป็นเพียงการประเมินเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดยังไม่รู้ว่าในปีนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงๆเป็นจำนวนกี่ครั้ง ขณะที่การคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ ถือเป็นการประเมินจำนวนที่น้อยเกินไป
นักวิเคราะห์จากบีเอ็นพี พาร์ริบาส์ คาดว่า เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้งในปี 2016 และจะชะลอการขึ้นในไตรมาสที่ 4 โดยกว่า 80% เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังเชื่อว่า การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนอยู่ในปีนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวต่ออย่างรุนแรงในปีนี้
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก อินเวสโก ประจำฮ่องกง ระบุว่า ความอ่อนแอของตลาดเกิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับฐานจากการที่หลายประเทศทำการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงในปี 2008-2009 จึงเชื่อว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่จะสามารถฟื้นตัวได้ในปีนี้
รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า เมื่อวานนี้ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศตัดลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2016 สู่ระดับ 2.9% เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก
น้ำมันดิบ WTI ปิด -5.6% ที่ระดับ 33.97 เหรียญ/บาร์เรล โดยลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -6% ที่ระดับ 34.23 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่กรกฎาคมปี 2004 โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่สูงเกินไป หลัง EIA เผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเหนือความคาดหมายในสัปดาห์ที่แล้วสู่ระดับ 9.219 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 17,000 บาร์เรล
อย่างไรก็ดี นักลงทุนในตลาดน้ำมันยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานระบุว่า ความขัดแย้งดังกล่าว อาจส่งผลให้ภาวะน้ำมันล้นตลาดยิ่งมีความรุนแรงขึ้นในปีนี้
เมื่อวานนี้บริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียประกาศปรับลดราคาน้ำมันดิบสำหรับลูกค้าทางตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปลงบาร์เรลละ 0.60 ดอลลาร์ และลดราคา 0.20 ดอลลาร์สำหรับลูกค้าในแถบเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับงวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการแข่งขันกับอิหร่านที่กำลังจะกลับเข้ามาเป็นผู้ขายน้ำมันดิบในตลาดโลกอีกครั้ง หลังจากที่ชาติตะวันอกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเหนือเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หลังจากที่ทางการเกาหลีเหนือ ประกาศ ความสำเร็จในการทดสอบนิวเคลียร์ไฮโดรเจนเป็นครั้งแรก และส่งผลให้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเพื่อประณามการทดสอบนิวเคลียร์ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางฝ่าย ประเมินว่า ความคืบหน้าในการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีเหนือดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และอาจเป็นประเด็นใหม่ที่สร้างความตึงเครียดในภูมิภาคได้