ดัชนีฮั่งเส็งร่วงลง 565.21 จุด หรือ 2.76% ปิดวันนี้ที่ 19,888.50 จุด และ ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วงลง 169.71 จุด หรือ -5.33% ปิดที่ 3,016.70 จุด ปิดปรับตัวลดลงอย่างหนักในวันนี้ หลังรายงานตัวเลข CPI และ PPI ของจีนที่น่าผิดหวังในวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่ในวันนี้ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนใกล้เคียงกับระดับเดิม
ขณะที่ดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับตัวลดลง -2.04% ในบ่ายวันนี้ สู่ระดับ 725 จุดตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่น ปิดทำการในวันนี้เนื่องในวันบรรลุนิติภาวะ
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของมาเลเซียลงสู่ระดับมีเสถียรภาพ จากเดิมเชิงบวก โดยระบุว่า ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในต่างประเทศได้ส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลชะลอตัวลง โดยอันดับความน่าเชื่อถือของมาเลเซียในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ A3
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 นี้จะสามารถเติบโตได้ถึง 3.9-4% มากกว่าที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ 3.8% เนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละไตรมาส
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแสดงความเห็นว่า ขอให้รัฐบาลใช้วิธีอุดหนุนราคายางให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ แต่รัฐบาลกำลังสร้างระบบเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว
ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า "ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง" อันเนื่องมาจากความกังวลในสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงบวกจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผลสำรวจสรุปว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในกรอบซบเซา (Bearish) โดย ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายเศรษฐกิจ ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ สถานการณ์ต่างประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศปรับตัวลดลงมากที่สุด (57.15%) อยู่ที่ 33.33 จนแตะระดับ "ซบเซาอย่างมาก" (Extremely Bearish) ขณะที่ มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศกลุ่มเดียว ที่ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่เกณฑ์ทรงตัว (Neutral) แม้ว่าจะปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 28.03 อยู่ที่ 90.91
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.5% โดยเครื่องจักรสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญานการฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี2559 มาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ภาคส่งออกไทยที่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางมาตรการทางการค้ามากขึ้น เช่น IUU และ GSP ของสหรัฐฯ