ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยเช้านี้ยังคงปรับตัวขึ้นแถวระดับ 98.87 ด้านค่าเงินยูโรเช้านี้อ่อนค่าลงแตะ 1.0842 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0902 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้นมา 117.88 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินหยวนเช้านี้ทรงตัวที่ระดับ 6.5640 ดอลลาร์/หยวน
นายเดนนิส ล็อกฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวเตือนว่า ความเสี่ยงระดับโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี นายล็อกฮาร์ท เชื่อมั่นว่า การบริโภคภายในประเทศจะยังแข็งแกร่งและช่วยหนุนให้จีดีพีสหรัฐฯขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5% ในปีนี้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศมีการจ้างงานอย่างสมบูรณ์ และจะหนุนให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ที่เฟดกำหนด ซึ่งเขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในการประชุมทุกๆ 2 ครั้ง
ด้าน นายโรเบิร์ต เค็ปแลนด์ ประธานเฟดสาขาดัลลัสคนใหม่ กล่าวสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มากเกินไปอาจสร้างความเสี่ยงในระยะยาวต่อสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ธนาคารกลางจีนทำการปล่อยสินเชื่อจำนวน 4.973 พันล้านหยวน (754.4 ล้านดอลลาร์) ให้แก่ภาคธนาคารภายในประเทศจำนวน 31 แห่ง ภายใต้โครงการปล่อยกู้ต่อ ณ สิ้นปี 2015 เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารต่างๆปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
น้ำมันดิบ WTI ปิด -5.3% ที่ระดับ 31.41 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเมื่อวานนี้ลงมาทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 13 ปีนับตั้งแต่ปี 2003 บริเวณ 30.87 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิด -6% ที่ระดับ 31.55 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยเมื่อวานนี้ลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่บริเวณ 31.18 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 12 ปีนับตั้งแต่ปี 2004
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2016 ปรับตัวร่วงลงแล้วประมาณ 20% เนื่องจากตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าการชะลอตัวเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ความต้องการพลังงานภายในประเทศซบเซาลงด้วย ท่ามกลางภาวะอุปทานน้ำมันตลาดโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหากอิหร่านเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเร็วๆนี้
นักวิเคราะห์จาก Barclays Bank ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2016 โดยคาดการณ์ใหม่ คาดว่าราคาน้ำมันดิบBrent และ WTI จะมีราคาเฉลี่ยที่ระดับ 37 ดอลลาร์/บาร์เรล จากคาดการณ์เดิม 60 และ 56 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ประเมินว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวลดลงแตะระดับ 20 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหากในไตรมาสที่ 1/2016 ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงก็จะส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปรับลดงบประมาณลงซึ่งจะสะท้อนคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ระดับ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแล้วกว่า 70% จากภาวะอุปทานล้นตลาด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงกดดันอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก