Nordea Markets ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2016 นี้ ปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง บอกเป็นนัยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถเติบโตได้มากกว่าระดับผลผลิตศักยภาพ(Potential Output) โดยได้รับแรงส่งจากภาคการบริโภค แม้ว่าภาคการส่งออกจะยังคงอ่อนแอก็ตาม ขณะที่การจ้างงานจะเข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ภายในกลางปีนี้ และค่าแรงจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น
โดยคาดการณ์ว่าปี 2016 นี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตในระดับปานกลางราว 2.5% เช่นเดียวกับปี 2014 และปี 2015 โดยคาดว่าการส่งออกจะยังคงเป็นปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ลดลง ขณะที่ภาคการบริโภคคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้อย่างโดดเด่นในปีนี้
ความเห็นของ Nordea สอดคล้องกับความเห็นจาก Wells Fargo โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ, อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ, การจ้างงานและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น, ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่งและยังไม่ร้อนแรงเกินไป และการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น จะสามารถชดเชยความอ่อนแอของภาคการผลิตและภาคการส่งออกได้ ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 จะมีกำไรเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง
ธนาคารกลางจีน ประกาศ ค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้ใกล้เคียงกับระดับเดิม โดยเป็นวันทำการที่ 3 ติดต่อกันแล้ว ที่ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนไว้ใกล้เคียงกับระดับเดิม หลังจากที่ประกาศอ่อนค่าลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
ธนาคารกลางจีนได้เข้าแทรกแซงตลาดออฟชอร์เพื่อปกป้องสกุลเงินหยวน ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินหยวนในตลาดฮ่องกง โดยการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในตลาดฮ่องกง นอกจากนี้ การเข้าแทรกแซงตลาดออฟชอร์ในฮ่องกงยังมีเป้าหมายที่จะสกัดการเก็งกำไรจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างอัตราดอกเบี้ยในตลาดออนชอร์และออฟชอร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะทำให้สกุลเงินหยวนสามารถรวมเข้าในตะกร้าสกุลเงิน SDR ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
นักวิเคราะห์จาก PIMCO คาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงในอีก 6 – 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้นอกจากค่าเงินหยวนแล้ว PIMCO ยังคงคาดการณ์ว่าค่าเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย จะปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ราคาน้ำมันดิบยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องในตลาดซื้อขายเอเชีย โดยเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และความวิตกกังวลต่อความผันผวนในตลาดหุ้นจีนที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาด
ทั้งนี้ น้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง 2.3% ที่ระดับ 30.68 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ Brent ปรับตัวลงต่อ 2.6% แตะระดับ 30.73 ดอลลาร์/บาร์เรล และยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี
นาย Fadel Gheit นักวิเคราะห์ด้านพลังงานอาวุโส ประจำ Oppenheimer & Co. ระบุว่า ผู้ผลิต Shale Oil ครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ อาจล้มละลาย ก่อนที่ตลาดจะเข้าสู่ดุลยภาพ
แม้เขาจะคาดการณ์ว่า ราคาปกติใหม่ของน้ำมัน(New Normal Oil Price) น่าจะสูงกว่าระดับราคาปัจจุบัน 50%-100%โดยคาดว่าราคาน่าจะมีเสถียรภาพเมื่อใกล้ระดับ 60 เหรียญ/บาร์เรล แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี เพื่อให้ราคาน้ำมันกลับสู่ระดับดังกล่าว ซึ่งผู้ผลิต Shale Oil ต้องการระดับ 70 เหรียญ/บาร์เรล เพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
Morgan Stanley แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันกับ Goldman Sachs ว่าราคาน้ำมันจะร่วงลงสู่ระดับ 20 เหรียญ/บาร์เรล