ดัชนีนิกเกอิปิดพุ่งขึ้น 496.67 จุด หรือ 2.88% แตะที่ 17,715.63 จุด ปิดเพิ่มขึ้นกว่า 2% ในวันนี้ ซึ่งเป็นการปิดบวกวันแรกหลังจากที่ดิ่งลงติดต่อกัน 6 วันทำการ โดยนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นอย่างคึกคักหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ และจากการที่ตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนลงมาบ้าง
ดัชนีฮั่งเส็งเพิ่มขึ้น 223.12 จุด หรือ 1.13% ปิดวันนี้ที่ 19,934.88 จุด ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันนี้ หลังยอดส่งออกของจีนปรับตัวดีขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นจีนกลับปิดตลาดวันนี้ร่วงลงวันนี้โดย ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วงลง 2.42% ปิดที่ 2,949.6 จุด ส่วนดัชนีหุ้นเสิ่นเจิ้นร่วง 3.06% ปิดที่ 9,978.82 จุด
ดัชนี MSCI Emerging Markets Index ปรับตัวขึ้น 0.99% สู่ระดับ 730.35 ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากร่วงแตะระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 เมื่อวานนี้ โดยพุ่งขึ้นในวันนี้ หลังจีนเปิดเผยยอดส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น
ในวันนี้ตลาดหุ้นเอเชียสามารถฟื้นตัวได้จากการซื้อขายแถวระดับต่ำในรอบ 4 ปี จากความพยายามของจีนในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินหยวนในตลาดจึงช่วยลดความผันผวนในตลาดหุ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะทำจุดต่ำสุดใหม่ต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรลก็ตาม
Nordea Bank คาดการณ์ว่า ตลาดเอเชียจะเผชิญกับความผันผวนและแรงเทขายเป็นอย่างมาก จากความปั่นป่วนของจีน
นาย Mark Haefele หัวหน้าฝ่ายการลงทุน ประจำ UBS Wealth Management แนะนำให้ ลงทุนในหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น เนื่องจากธนาคารกลางมีนโยบายที่ผ่อนคลาย และให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นของสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้ทั้งสิ้น 235,512 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 57,916 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559(ต.ค.-ธ.ค.) รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวม 581,306 ล้านบาท หรือจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 64,545 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. โดยยังเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ทั้งปีจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.33 ล้านล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางการใช้จ่ายของครัวเรือนในปีนี้ โดยยังคงมองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ อาจจะจำกัดอยู่ในกรอบที่ 1.7-2.5% ซึ่งใกล้เคียงหรือดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์การบริโภคในปี 2558 เนื่องจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อและรายได้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในครัวเรือนทุกระดับ เนื่องจากภาระหนี้สิน