นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo ระบุว่า ตัวเลขตำแหน่งงานใหม่ของสหรัฐฯ ประจำเดือน พ.ย. ที่ประกาศมาเมื่อวานนี้ โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.43 ล้านตำแหน่ง(มากกว่าเดือน ต.ค. 82,000 ตำแหน่ง) ได้รับแรงผลักดันจากตำแหน่งงานในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการลาออกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.5% ซึ่งอัตราการลาออกเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. แสดงให้เห็นว่าลูกจ้างมีความมั่นใจในการหางานใหม่มากขึ้น และอัตราการเลย์ออฟพนักงาน ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.2%
ในเช้าวันนี้ ตัวเลขการค้าของจีน ประจำเดือน ธ.ค. ออกมาดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ โดยเมื่อเทียบรายปีในสกุลดอลลาร์ การส่งออก -1.4% (เดิม 6.8% คาดการณ์ -8.0%) การนำเข้า -7.6% (เดิม -8.7% คาดการณ์ -11.0%) และเกินดุลการค้า 60.09 พันล้านเหรียญ (เดิม 54.1 คาดการณ์ 51.3)
คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) ระบุว่า ในปี 2015 จีนน่าจะสามารถเติบโตได้ราว 7% และมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น 13 ล้านตำแหน่ง พร้อมกันนี้ยังระบุว่า การที่ตลาดหุ้นจีนและค่าเงินหยวน ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของจีนนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแทบไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าเศรษฐกิจจีนกำลังแย่อย่างมากลงจริงๆ
นาง Shen Lan นักเศรษฐศาสตร์ ประจำ Standard Chartered แสดงความเห็นที่สอดคล้องกับ NDRC โดยระบุว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการร่วงลงของตลาดหุ้นและภาคเศรษฐกิจจริงมีน้อยมาก
NDRC ระบุว่า การลงทุนภาครัฐของจีนในปี 2015 มีมูลค่า 2.52 ล้านล้านหยวน(383.44 พันล้านเหรียญ) โดยในเดือน ธ.ค. อนุมัติไปกว่าจำนวนกว่า 5.151 แสนล้านหยวน (ราว 1 ใน 5)
ทั้งนี้ถ้อยแถลงดังกล่าวของ NDRC มีขึ้นก่อนที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะเปิดในวันอังคารหน้าอย่างก็ตามระดับการเติบโต 7% ที่ NDRC คาดการณ์นั้น ลดลงจากการเติบโตปี 2014 ที่ 7.3% และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 25 ปี เนื่องจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่อ่อนแอ, กำลังการผลิตส่วนเกิน และ การลงทุนที่ไม่แน่นอน
ทั้งนี้นักวิเคราะห์บางส่วน เชื่อว่า การเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริงจะต่ำกว่าการคาดการณ์ของ NDRC และจะทำให้ธนาคารกลางจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในปีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง
ถ้อยแถลงนโยบายประจำปีของนายโอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใจความหนึ่งระบุว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จะช่วยยกระดับความเป็นผู้นำของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย และเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติข้อตกลง TPP กับอีก 11 ประเทศโดยเร็ว เพื่อรับมือกับอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในภูมิภาคดังกล่าว
รายงานประจำเดือน ม.ค. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าสหรัฐฯจะผลิตน้ำมันดิบลดลง โดยในปี 2015 จะผลิตน้ำมันดิบ 9.4 ล้านบาร์เรล/วัน | ปี 2016 ผลิต 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน | ปี 2017 ผลิต 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน (การคาดการณ์ในปี 2015 คาดการณ์ว่าในเดือน ธ.ค. จะผลิตน้ำมันดิบลดลง 80,000 บาร์เรล/วัน จากเดือน พ.ย.)
คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปีนี้ไว้ที่ 40 เหรียญ/บาร์เรล | ปี 2017 50 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่คาดการณ์น้ำมันดิบWTI ในปีนี้ที่ 38 เหรียญ/บาร์เรล | ปี 2017 ไว้ที่ 47 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่คาดการณ์การใช้น้ำมันของโลก จะเพิ่มขึ้นปีละ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยในปี 2015 คาดการณ์ไว้ที่ 93.8 ล้านบาร์เรล/วัน | ปี 2016 95.2 ล้านบาร์เรล/วัน | ปี 2017 96.6 ล้านบาร์เรล/วัน
Nordea Bank ระบุว่า มีปัจจัยสำคัญ 6 ประการที่จะตลาดน้ำมันดิบจะกลับเข้าสู่ดุลยภาพช้าลง ได้แก่
1. กลุ่มโอเปค ไม่สามารถตกลงเพดานการผลิตได้
2. เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันลง
3. การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(COP21) ครั้งล่าสุด บรรลุข้อตกลงเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตและการบริโภคน้ำมัน
4. สหรัฐฯยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ ที่มีมาตั้งแต่ปี 1975
5. ฤดูหนาวที่ไม่รุนแรง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพื่อสร้างความอบอุ่นลดลง
6. คู่ขัดแย้งภายในประเทศลิเบีย สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกันได้แล้ว ทั้งนี้ความขัดแย้งดังกล่าวภายในลิเบีย ทำให้การผลิตน้ำมันของลิเบีย ลดลงไปกว่า 80% โดยในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ลิเบียผลิตน้ำมันดิบ เพียง 380,000 บาร์เรล/วัน จากที่เคยผลิตได้วันละ 1.6 ล้าน ในปี 2011