ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยดัชนีดอลลาร์เช้านี้ยังคงปรับตัวลงต่อแถวระดับ 99.09 ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เฝ้ารอคอยผลการประชุมเฟดที่จะสิ้นสุดในค่ำคืนนี้ เวลาประมาณตี 1 ตามเวลาไทย
ด้านค่าเงินยูโรเช้านี้แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.0857 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.0837 ดอลลาร์/ยูโร และค่าเงินเยนทรงตัวที่ระดับ 118.22 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย 6.5725 ดอลลาร์/หยวน จากระดับ 6.5694 ดอลลาร์/หยวน
ผลการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคมปรับตัวขึ้นเกินคาดแตะระดับ 98.1 จากระดับ 96.3 ในเดือนก่อนหน้า แม้ว่าตลาดหุ้นและตลาดที่อยู่อาศัยจะส่งสัญญาณชะลอตัว แต่กลุ่มผู้บริโภคก็ยังเชื่อว่ามั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังแข็งแกร่งเพียงพอ
นักลงทุนในตลาดการเงินยังคงเฝ้ารอการประชุมเฟดเกี่ยวกับการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปในคืนวันพุธนี้ โดยตลาดเชื่อว่าเฟดจะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และตรีงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ 0.25-0.50% แต่แรงเทขายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ถือเป็นประเด็นน่าสนใจที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายในอนาคตของเฟดได้
ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg พบว่า โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมลดลงสู่ระดับ 25% จากระดับ 51% ในช่วงเริ่มต้นปี และโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายนก็ลดน้อยลงสู่ระดับ 44% จากระดับ 75% ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองไม่เห็นโอกาสที่เฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของรัสเซีย กล่าวว่า เศรษฐกิจรัสเซียในไตรมาสที่ 4/2015 ชะลอตัวแตะ 3.8% เพราะได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ รวมทั้งการอ่อนค่าของค่าเงินรูเบิล และการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
น้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัวขึ้นโดยปิด +3.7% ที่ระดับ 31.45 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบBrent ปิด +4.2% ที่ระดับ 31.8 เหรียญ/บาร์เรล หลังกลุ่มโอเปกและกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกอาจมีข้อตกลงร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตเพื่อสกัดการทรุดตัวของราคาน้ำมันและแก้ไขภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด
รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า เช้านี้น้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 3% ในการซื้อขายของตลาดเอเชีย โดยปรับลงมาเคลื่อนไหวแถวระดับ 30 เหรียญ/บาร์เรลอีกครั้ง จากแรงเทขายทำกำไร หลังจากที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อคืนนี้
นาย อับดุลลาห์ อัล-บาดรี เลขาธิการโอเปก เรียกร้องให้กลุ่มประเทศผลิตน้ำมันนอกโอเปกร่วมมือกันลดกำลังการผลิตเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะน้ำมันดิบล้นตลาด ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียควรร่วมมือกับกลุ่มโอเปกในการลดกำลังการผลิตน้ำมัน
ธนาคารโลก (World Bank) คาดว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบในปี 2016 มีโอกาสลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบกับปี 2014 โดยมีโอกาสแตะระดับ 37 เหรียญ/บาร์เรล จึงคาดว่าภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดจะยังคงอยู่ต่อไป ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่
ขณะที่ในปี 2017 ธนาคารโลก ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบจะสามารถฟื้นตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอาจปรับตัวขึ้นแตะ 58.8 เหรียญ/บาร์เรลในปี 2020
ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 9.3% แตะระดับ 33.2 ล้านตัน ส่งผลให้ภาพรวมในปี 2015 จีนมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น 8.8%แตะระดับ 335.5 ล้านตันอย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อปริมาณความต้องการพลังงานภายในประเทศ
นอกจากนี้ รายงานจาก สถาบันจัดอัน มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า ธนาคารจีนกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหุ้น และกระแสเงินทุน