· ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา จากความไม่แน่นอนที่ว่านายทรัมป์จะสามารถผลักดันแผนเศรษฐกิจได้หรือไม่ โดยค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อทียบกับค่าเงินเยน หลังมีข่าวว่า นายทรัมป์ทำการปลดนายสตีฟ แบนนอน ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจของทรัมป์
ค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นเกือบ 1% แตะระดับ 108.58 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะทรงตัวแถวระดับ 109.31 เยน/ดอลลาร์
เช้านี้ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวบริเวณ 93.473 จุด และค่าเงินยูโรทรงตัวบริเวณ 1.1715 ดอลลาร์/ยูโร โดยยังเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.17 – 1.18 ดอลลาร์/ยูโรในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่นักลงทุนรอคอยถ้อยแถลงของนายมาริโอ้ ดรากี้ ประธานอีซีบีที่จะร่วมประชุมสุดยอดผู้นำธนาคารกลางที่เมืองแจ็คสัน โฮลล์ ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่ถ้อยแถลงนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ที่เข้าร่วมประชุมด้วยนั้นก็ดูจะเป็นปัจจัยหลักที่ตลาดรอคอยเช่นกัน
· ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนขั้นต้น แสดงให้เห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงครึ่งเดือนแรกของส.ค. ขยายตัวได้เกินคาดแตะระดับ 97.6 จุด จากคาดการณ์ที่ 93.4 จุด
ซึ่งข้อมูลความเชื่อมั่นที่รีบาวน์จากระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน เมื่อเดือนก.ค. นั้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ทรงตัวแถวระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
· รายงานจากเฟดสาขานิวยอร์ก พบว่า มีการปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 สู่ระดับ 2.09%จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.96% ในสัปดาห์ที่แล้ว อันเป็นผลมาจากข้อมูลยอดค้าปลีก, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตภายในประเทศ
· การเจรจาข้อตกลง NAFTA ระหว่างสหรัฐฯ, แคนาดา และเม็กซิโก ครั้งแรกเมื่อวานนี้ มีความเห็นที่ไม่สอคล้องกันในเรื่องของการจัดการร่วมกันที่อาจเร็วเกินไปที่จะเชื่อมความแตกต่างระหว่างกัน โดยตัวแทนทั้ง 3 ประเทศจะพบกันในการเจรจาครั้งหน้าวันที่ 1 – 5 ก.ย.
ขณะเดียวกัน ทางสหรัฐฯก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมเพื่อหนุนข้อตกลงด้านยานยนต์ในอเมริกาเหนือ
· ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ศาสนาในสหรัฐฯได้ออกมากล่าวปกป้องนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากกรณีที่เขาได้กล่าวประนามกลุ่มผู้ชุมนุมจากเหตุความรุนแรงในเมืองชาร์ล็อตวิลล์ ซึ่งได้ส่งผลให้นายทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายๆฝ่าย
· ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับตัวขึ้น 1.42 เหรียญ ที่ระดับ 48.51 เหรียญ/บาร์เรล หรือปรับขึ้นได้ประมาณ 3% ขณะเดียวกันน้ำมันดิบ Brent ก็ปิดปรับขึ้นได้ 3.3% หรือเพิ่มขึ้น 1.69 เหรียญ ที่ระดับ 52.72 เหรียญ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบคืนวันศุกร์ปิดปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์และปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้ภารวมรายสัปดาห์ของน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 1.5% ขณะที่น้ำมันดิบ WTI อ่อนตัวลงประมาณ 0.3% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
· รายงานจากบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ ระบุว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันลดลง 5 แท่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา สู่ระดับ 763 แท่น โดยการปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะมาจากการที่กลุ่มผู้ขุดเจาะมีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายจากภาวะการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ