· สรุปประชุมเฟด 19-20 ก.ย. พบว่า ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.00-1.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจำนวน 1 ครั้งในปีนี้ แม้ว่าข้อมูลเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับต่ำ โดยสมาชิกเฟด 11 จาก 16 ราย พึงพอใจต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสิ้นปีนี้ และคาดว่าในช่วงสิ้นปีคาดกรอบของนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 1.25 – 1.50% หรือมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25%
และเป็นไปตามคาดเฟดจะเริ่มลดงบดุลในเดือนต.ค. ด้วยจำนวน 4.2 ล้านล้านเหรียญที่ถือครองในพอร์ตพันธบัตรและตราสารMBS ซึ่งในเบื้องต้นเฟดจะทำการลดตราสารที่ถือครองไว้ 1 หมื่นล้านเหรียญ/เดือนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ก่อนจะขยายวงเงินการปรับลดอีก 1 หมื่นล้านเหรียญในทุกๆไตรมาส เพื่อให้บรรลุ 5 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน จนกว่ายอดงบดุลจะแตะ 1 ล้านล้านเหรียญ หรือมากกว่านั้นในปีหน้า
· หลังทราบผลประชุมเฟดจะเห็นได้ถึงการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ทะยานขึ้นตาม แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 8 ส.ค. บริเวณ 2.29% จึงได้ช่วยหนุนราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม
ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นปรับแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 92.426 จุด หรือคิดเป็น +0.7% ซึ่งเป็นระดับการปรับขึ้นรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่ 4 ส.ค.
ทางด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.8% ที่ระดับ 1.1894 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 วันทำการ ขณธที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้น 0.5% ที่ระดับ 112.17 เยน/ดอลลาร์ หลังจากที่เมื่อวานนี้ขึ้นไปทกระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน บริเวณ 112.51 เยน/ดอลลาร์
· ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม โดยยังมีความกังวลต่อข้อมูลเงินเฟ้อในระดับต่ำ และเฟดก็พร้อมเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหากจำเป็น
ขณะที่เฟดมองว่า การเผชิญกับพายุเฮอริเคนครั้งล่าสุดในสหรัฐฯอาจสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ไม่มีแนวโน้มจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะกลาง
· สำหรับประมาณการณ์ของเฟด หรือ Fed Projections ยังคงคาดการณ์จำนวนการปรับขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3 ครั้งในปี2018 และอีก 2 ครั้งในปี 2019 และ 2020 แต่หั่นคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวลงสู่ระดับ 2.7% จากระดับ 3% จึงบ่งชี้ว่าเฟดมีความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เฟดคงคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราว่างงาน โดยเชื่อว่าอัตราว่างงานในปีนี้จะยังอยู่ที่ 4.3% ขณะที่ปีหน้าและปี2019 อยู่ที่ 4.1% ทางด้านจีดีพีจะยังคงขยายตัวได้ 2.4% ขณะที่ปี 2018 มองขยายตัวได้ 2.1% และปี 2019 ที่ระดับ 2.0% และในส่วนของมุมมองเงินเฟ้อ เฟดคาดว่าจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 2% ในปีหน้า ก่อนจะแตะระดับเป้าหมายในปี 2019
· หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจประจำสถาบัน Allianz กล่าวว่า เฟดยังมีมุมมองที่ดีต่อการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีการประกาศลดยอดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจะเริ่มลดในเดือนหน้า ประกอบกับมีการจำกัดการปรับทบทวนทั้งสัญญาณชี้นำและคาดการณ์ต่างๆ ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าเฟดระบุถึงอัตราคนว่างงานในรนะดับต่ำ ขณะที่การลงทุนในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจนั้นมีการขยายตัวได้ในระดับปานกลางจึงทำให้ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่มาของการตัดสินใจดังกล่าว ขณะที่ความเสี่ยงในระยะสั้นต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจก็ยังมีความสมดุลต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและจับตาเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
· นักกลยุทธ์การลงทุนจาก Aberdeen Standard Investments กล่าวว่า ถ้อยแถลงของเฟดเป็นการส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนั้นยังคงมีอยู่ในกำหนดการ และมีความชัดเจนมากขึ้นจากเฟดที่ยังคงเชื่อมั่นต่ออัตราว่างงานในระดับต่ำที่ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น แต่ขณะนี้จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย จึงอาจเป็นการยากที่จะเห็นเฟดดำเนินการผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
· รายงานผลสำรวจจากรอยเตอร์ส ชี้ว่า เฟดน่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.นี้ และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2018
· เครื่องมือ FedWatch ของ CME Group แสดงให้เห็นว่า หลังทราบผลประชุมเฟดบรรดาเทรดเดอร์มองโอกาสที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 67% จากระดับ 51% ในช่วงก่อนทราบผลประชุม
· สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน ประกาศแผนการในสัปดาห์หน้าว่าจะมีการลงมติเกี่ยวกับนโญบายประกันสุขภาพที่จะมาแทนที่นโยบาย Obamacare ขณะที่ นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเตือนว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชน
· ผลการประกาศยอดขายบ้านมือ 2 ของสหรัฐฯร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบปีในเดือนส.ค. เพราะได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ ที่สร้างความเสียหายต่อกิจกรรมที่อยู่อาศัยในเขตฮูสตัน รวมทั้งการขาดแคลนกำลังซื้อในตลาดที่ยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งนี้ ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยล่าสุดปรับตัวลดลง 1.7% แตะระดับ 3.35 ล้านยูนิต ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ส.ค. ปี 2016 จึงบ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยอาจสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 3 ได้
· น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 1.06 เหรียญ หรือคิดเป็น +1.9% ที่ระดับ 56.2 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 93 เซนต์ หรือคิดเป็น +1.9% เช่นกัน ที่ระดับ 50.41 เหรียญ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้นได้เกือบ 2% แม้ว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯจะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจาก รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรัก กล่าวว่า โอเปก และประเทศหุ้นส่วนจะตัดสินใจขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิต หรือจำนวนการปรับลดเพิ่มขึ้น
ภาพรวมไตรมาสนี้ ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้นได้เกือบ 16% ซึ่งถือเป็นภาพรวมที่ดีที่สุดในปีนี้และมีความแข็งแกร่งมากที่สุดของไตรมาสที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2004