กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5%ต่อปี พร้อมเพิ่มเป้าตัวเลขศก.สำคัญยกแผง หลังมองศก.ไทยโตต่อเนื่องตามการส่งออกและบริการ มองจีดีพีปี60 - 61 โต 3.8% จากเดิม 3.5% และ 3.7% ตามลำดับ ด้านส่งออกปีนี้มองโต 8% จากเดิมที่ 5% นำเข้าเป็น 14% จากเดิมที่ 10.9% ส่วนปีหน้าคาดส่งออกโต 3.2% นำเข้าโต 6.3% แต่หั่นเป้าเงินเฟ้อทั่วไปปี 60 เหลือ 0.6% จากเดิม 0.8% ส่วนปี 61 หั่นเหลือ 1.2% จากเดิม 1.6% เอกชนลงทุนต่อเนื่อง แต่ภาครัฐปีนี้ชะลอตัวหลังบางโครงการเบิกจ่ายล่าช้า ยันระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. และผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ในคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยธปท. มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ที่ 3.8% จากเดิมที่ 3.5% ส่วนปี 2561 เพิ่มเป็น 3.8% จากเดิมที่ 3.7%
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ปรับประมาณการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิมที่ 5% และปี 61 เพิ่มเป็น 3.2% จากเดิมที่ 1.7% ส่วนการนำเข้าเพิ่มเป็น 14%จากเดิมที่ 10.9% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าเพิ่มเป็น 6.3% จากเดิมที่ 5.4% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 42.4 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาดเกินดุล 39.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ปี 61 เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 38.6 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ 32.7 พันล้านดอลลาร์
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดจะลดลงอยู่ที่ 0.6% จากเดิมที่ 0.8% ขณะที่ 61 คาดลดลงอยู่ที่ 1.2% จากเดิมคาด 1.6% ทั้งนี้ ธปท.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่กรอบล่างที่ 1% ในช่วงกลางปี 61 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป้าหมายปีนี้ที่ 0.6% ส่วนปีหน้าที่ 0.9% ส่วนารบริโภคภาคเอกชนปีนี้คาดเพิ่มเป็น 3.3% จากเดิมที่ 3.1% ส่วนปี 61 เพิ่มเป็น 3.8% จากเดิมที่ 3.7%
ส่วนการลงทุนเอกชนปี 60 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.3% จากเดิมที่ 1.7% ส่วนปีหน้าคาดลดลงมาอยู่ที่ 3% จากเดิมที่ 3.1% ส่วนการอุปโภคภาครัฐปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่2.1% จากเดิม 2.2% ส่วนปีหน้าเพิ่มเป็น 2.7% จากเดิมที่ 1.9% ส่วนกสนลงทุนภาครัฐปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 5% จากเดิมที่ 7.7% จากการประเมินว่า การเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มล่าช้าในบางโครงการ ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% จากเดิมที่ 9.2%
“กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมิน ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเริ่มกระจายตัว การค้าต่างประเทศขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเร่งเบิกจ่ายที่อาจล่าช้าไปบ้าง”นายจาตุรงค์ กล่าว...
ที่มา: eFinance
อ่านต่อ: http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=fD5YLK/O1/U=&year=2017&month=9&lang=T&postdate=2017-09-27%2014:58