- นักวิเคราะห์จาก Goldman กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2017 ถือว่าสามารถเติบโตได้อย่างน่าประหลาดใจ
- พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2018 จะขยายตัวต่อเช่นเดียวกัน
- ทีมนักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 4% ในปี 2018
นายชาลส์ ฮิมเมลเบิร์ก (Charles Himmelberg) นักวิเคราะห์ประจำ Goldman Sachs กล่าวว่า ปี 2017 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกสามารถสามารถเติบโตได้อย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะยังสามารถเติบโตต่อได้อย่างแข็งแกร่งในปี 2018 เช่นกัน
ซึ่งจะเห็นได้จาก เศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยูโรโซน สามารถเติบโตในไตรมาสที่ 3/2017 ได้ถึง 0.8% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถเติบโตติดต่อกันได้ถึง 7 ไตรมาส และเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เติบโตได้ 3% ในไตรมาสที่ 3/2017
“ปี 2017 เป็นเหมือนการวางรากฐานให้กับเศรษฐกิจโลกที่จะเติบโตต่อไปได้ในปี 2018” นายชาลส์ กล่าว
นอกจากนี้ นายชาลส์และทีมนักวิเคราะห์ของเขา ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถเติบโตได้อีก 4% ในปี 2018 ท่ามกลางปัจจัยดังต่อไปนี้
1) แรงส่งของทิศทางเศรษฐกิจขาขึ้นในปัจจุบัน
2) ข้อจำกัดทางการเงินที่จะผ่อนคลายลง
3) นโยบายการเงินที่ยังคงอยู่สภาวะผ่อนคลาย
4) ความเป็นไปได้ของนโยบายกระตุ้นการเงินจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับอาณิสงค์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยจะเห็นได้จาก ดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถเติบโตได้ถึง 14% ในปี 2017 ขณะที่ดัชนี DAX ของตลาดหุ้นเยอรมนี สามารถเติบโตได้ถึง 13% ในภาพรายปี และดัชนี Nikkei ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่เติบโตได้ถึง 17.2% ภาพรายปีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายชาลส์ ยังได้เตือนให้ระมัดระวังปัจจัยเสี่ยง ซึ่งก็คือ อุปสรรคในการดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึง มุมมองเชิงกีดกันการค้าจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนตลาดจะลืมปัจจัยตัวหลังกันไปเสียแล้ว
Goldman Sachs ประเมินโอกาสที่นโยบายปฏิรูปภาษีจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในช่วงต้นปี 2018 ไว้ที่ 80%
แต่นายชาลส์กล่าวว่า หากนโยบายดังกล่าวประสบความล้มเหลว ก็จะเป็นนโยบายตัวที่สองที่ทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ ซึ่งจะทำคะแนนความนิยมของนายทรัมป์ร่วงลงไปอย่างแน่นอน
หากคะแนนความนิยมของนายทรัมป์ร่วงลงไป อาจทำให้ทีมบริหารเผชิญแรงกดดันจากหลายๆฝ่าย เพื่อให้เร่งบรรลุเป้าหมายบางอย่างให้ทันก่อนเข้าช่วงกลางวาระของนายทรัมป์ จึงน่าจะส่งผลให้ทีมบริหารมีมุมมองกีดกันการค้ากับต่างประเทศที่แข็งกร้าวมากขึ้นได้
นายทรัมป์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ยืนยันจุดยืนเชิงกีดกันการค้าจากต่างชาติมาโดยตลอด ขณะที่ ในการเดินทางเยือนทวีปเอเชียอย่างเป็นทางการ เขาได้กล่าวไว้ว่า ทีมบริหารเตรียมที่จะทำการพิจารณาสนธิสัญญาการค้ากับบรรดาประเทศในเอเชีย ภายใต้มุมมอง "America First" ของนายทรัมป์
คำพูดดังกล่าวของนายทรัมป์ ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเจรจาสนธิสัญญา NAFTA ที่สหรัฐฯอาจทำการเจรจาสนธิสัญญาดังกล่าวขึ้นใหม่ หรืออาจจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ขณะที่นายทรัมป์กล่าวว่า NAFTA คือสนธิสัญญาการค้าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม นายชาลส์ได้กล่าวว่า หากนโยบายปฏิรูปภาษีประสบความสำเร็จ จะช่วยหนุนให้การเจรจาภายใต้สนธิสัญญา NAFTA มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา: CNBC