นายจอห์น คอร์นนิน สมาชิกวุฒิสภารีพับลิกันระดับสูง แสดงความเชื่อมั่นว่าร่างนโยบายปฏิรูปภาษีฉบับสุดท้ายจะสามารถผ่านการลงมติในสภาสูง ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันอังคารนี้ ก่อนที่จะส่งมอบให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ลงนามอนุมัติในช่วงปลายสัปดาห์นี้
หากร่างนโยบายสามารถผ่านการลงมติไปได้ ก็จะเป็นการปฏิรูประบบภาษีของสหรัฐฯครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1986 และยังถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของนายทรัมป์และทีมบริหารของเขานับตั้งแต่เข้ารับตำแน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันมีจำนวนที่นั่งในวุฒิสภาจำนวน 52 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างเดโมแครตมีจำนวนที่นั่งอยู่ที่ 48 ที่นั่ง ดังนั้น รีพับลิกันจึงไม่สามารถสูญเสียเสียงสนับสนุนจากฝ่ายพวกเขาเองได้เกิน 2 เสียง ขณะที่พรรคเดโมแครตจะไม่มีการออกเสียงสนับสนุนอย่างแน่นอน เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นนโยบายภาษีจะเป็นการสนับสนุนคนรวย และจะทำให้ยอดขาดดุลของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายมาร์โก รูบีโอ และ นายบ็อบ คร็อกเกอร์ ส.ว.รีพับลิกันทั้ง 2 คน ได้ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาจะให้การสนับสนุนร่างนโยบายภาษีฉบับสุดท้ายนี้
ขณะที่นางซูซาน โคลลินส์ และนายไมค์ ลี ส.ว.รีพับลิกัน ได้ให้สัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มที่พวกเขาอาจสนับสนุนร่างนโนบาย แต่ยังไม่ได้ให้ความชัดเจนแต่อย่างใด รวมถึงนายเจฟฟ์ เฟลค ส.ว.รีพับลิกัน ที่ให้การสนับสนุนร่างนโยบายในการลงมติครั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ระบุว่าเขาจะให้สนับสนุนการลงมติครั้งนี้หรือไม่
“เหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์”
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากรัฐบาลที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ได้คาดการณ์ไว้ว่า นโยบายปฏิรูปภาษี จะส่งผลให้ปริมาณหนี้สินของรัฐบาลที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 20 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านเหรียญในระยะเวลา 10 ปี แม้จะประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจที่นโยบายภาษีจะเป็นตัวขับเคลื่อนแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ร่างนโยบายภาษีฉบับสุดท้ายที่จะนำไปลงมติ จะทำการปรับลดระดับภาษีของนิติบุคคลลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% รวมถึงลดระดับภาษีเงินได้ลง 20% สำหรับธุรกิจเกิดใหม่ทั้งธุรกิจแบบห้างหุ้นส่วนและธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯได้รับแรงหนุนขาขึ้นจากแนวโน้มความสำเร็จของร่างนโยบายปฏิรูปภาษีมาโดยตลอด โดย 3 ดัชนีหลักของตลาดหุ้นก็ยังสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาท่ามกลางความหวังในนโยบายภาษีที่จะปรับระดับภาษีของนิติบุคคลและธุรกิจ