นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2018 ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีดอลลาร์ปรับร่วงลงมาเกือบ 10% ซึ่งเป็นอัตราที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 ขณะที่ปัจจุบันก็เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้ อุปสงค์ในค่าเงินดอลลาร์เริ่มลดน้อยลง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบ มาจากบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่เริ่มหันเข้าหานโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาวะ Shutdown ของรัฐบาลสหรัฐฯเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ปัจจัยกดดันตลาดสหรัฐฯ?
ค่าเงินดอลลาร์สามารถปรับแข็งค่าขึ้นมาได้เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ท่ามกลางความหวังต่อนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2017 โดยตลาดสหรัฐฯคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายทรัมป์จะสามารถนำพาให้เศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งเหนือกว่าเขตเศรษฐกิจคู่แข่งอย่างยูโรโซน, ญี่ปุ่น, และจีน
อย่างไรก็ตาม เกิดปัจจัยที่ทำให้บรรดานักลงทุนตลาดต้องพิจารณาชะลอการลงทุนในตลาดสหรัฐฯอยู่เรื่อยๆ ตลอด 13 เดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ความล่าช้าในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ เช่น นโยบายปฏิรูปภาษี ที่เพิ่งจะสามรถผ่านการลงมติในสภาสูงได้เมื่อเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมา
ในขณะที่ เศรษฐกิจยุโรปในช่วงนี้สามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความต้องการค่าเงินดอลลาร์ปรับลดลงมา
ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนยังได้รับแรงหนุนมาจากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมาของนายเอ็มมานูเอล มาครอง ประธานาธิปดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน และนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ทำให้กระแสความเป็นชาตินิยมในยุโรปผ่อนคลายลงไป เศรษฐกิจจึงสามารถขยายตัวมาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตรและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
นอกจาก ECB แล้ว บรรดาธนาคารกลางจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, และจีน ก็ได้เริ่มส่งสัญญาณจะปรับมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินเช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่จะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อได้อีก?
ในปัจจุบัน ดูเหมือนตลาดจะยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากแนวโน้มในการเกิดสงครามทางการค้าขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงการเจรจาสนธิสัญญา NAFTA ระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก หากหัวข้อที่กล่าวมา ขยายตัวกลายเป็นความตึงเครียดต่อเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ ก็จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ในระยะยาว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ หากยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำแม้ค่าเงินดอลลาร์จะยังคงอ่อนค่าอยู่ก็ตาม อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินหรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมายิ่งเดิม และจะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก หากทาง ECB มีการประกาศใช้นโยบายคุมเข้ามทางการเงินอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์จากองค์กร IMF เผยให้เห็นว่า บรรดาธนาคารกลางหลายๆประเทศ เริ่มที่จะเร่งการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ค่าเงินดอลลาร์เพื่อเป็นทุนสำรองมากขึ้น
ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่าค่าเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อไปได้อีก พร้อมเตือนให้ระมัดระวังการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่ามากเกินไป แต่หากมีข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมากได้ในระยะสั้นๆ
ที่มา: Reuters