เมื่อคืนที่ผ่านมา นายเจอโรม โพเวล ได้เข้าพืธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานเฟดต่อจากนางเจเน็ต เยลเลน อย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาไม่นานนัก ตลาดหุ้นสหรัฐฯก็เผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักจนปรับร่วงลงมาเป็นประวัติการณ์
ตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา ปรับร่วงลงมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและเงินเฟ้อที่เริ่มส่งสัญญาณว่าอาจขยายตัวได้ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ที่เพิ่งปรับร่วงลงมา 666 จุด เมื่อคืนวันศุกร์ ปรับร่วงลงต่ออีกถึง 1,500 จุดเมื่อคืนนี้ ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้บางส่วน
นายวาร์ด แมคคาร์ธี (Ward McCarthy) นักเศรษฐศาสตร์การเงินจาก Jefferies กล่าวว่า ความผันผวนเมื่อคืนนี้ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดไม่ได้เป็นเพราะการเข้ารับตำแหน่งของนายโพเวลแต่อย่างใด แต่การดำเนินงานในด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดพอร์ตงบดุลของเฟดในปีนี้ น่าจะดำเนินการได้ค่อนข้างลำบาก ขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ได้มองว่า นายโพเวลน่าจะเป็นคนที่ประนีประนอมต่อตลาดมากกว่านางเยลเลน
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนกลับในช่วงแรกๆของการเข้ารับตำแหน่งของประธานเฟดคนก่อนๆ จะเห็นได้ว่า ดัชนี S&P 500 มักจะปรับร่วงภายใน 1 วันหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานเฟด โดยในกรณีของนายโพเวล ดัชนีปรับร่วงลง 4.1% เมื่อคืนนี้ ขณะที่ในกรณีของนางเยลเลน ดัชนีได้ปรับลดลง 0.9% และในกรณีของนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดคนก่อนหน้านางเยลเลน ดัชนีก็ได้ปรับลดลง 2.2% เช่นเดียวกัน
นายจิม คารอน นักบริหารพอร์ตจาก Morgan Stanley กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าแรงเทขายในตลาดหุ้นเมื่อคืนนี้ เกิดจากการเข้ารับตำแหน่งของนายโพเวลแต่อย่างใด ถึงแม้อาจจะมีกระแสความไม่แน่นอนในตลาดบางก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับทราบดีอยู่แล้ว
ขณะที่นายแมคคาร์ธี ประเมินว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น น่าจะมาจากนโยบายปฏิรูปภาษีและสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯจะเริ่มขยายตัวหลังจากที่หลับไหลมานาน
อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่นั้น แต่เกือบทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯมักเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากพิธีสาบานตนของพวกเขา โดยกรณีศึกษาที่น่าสนใจ จะมีดังต่อไปนี้
1. ในสมัยของนางเจเน็ต เยลเลน รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ปี 2014 ซึ่งในขณะนั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เผชิญกับแรงเทขายมาก่อนหน้าได้ประมาณ 2 สัปดาห์แล้ว โดยดัชนี S&P 500 ปรับลดลงมาถึง 5.4% ในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งหลังจากนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับลดลงมากถึง 9.3% ภายในระยะเวลาระหว่างวันที่ 18 ก.ย. ถึงวันที่ 15 ต.ค. ในปีเดียวกันนั้น
2. ในสมัยของนายเบน เบอร์นันเก้ เขาได้ถูกต้อนรับด้วยการปรับร่วงในตลาดหุ้นกว่า 7.8% เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ปี 2006 ก่อนที่นายเบนจะไปประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้แรงเทขายในตลาดเมื่อวันที่เขารับตำแหน่ง กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย
3. ในสมัยของนายพอล โวล์คเกอร์ ซึ่งเริ่มดำนงตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนส.ค. ปี 1979 และต่อมาใน เดือนต.ค.ปีเดียวกันนั้น ดัชนี S&P 500 ก็ได้เผชิญแรงเทขายร่วงลงมาถึง 11% จนถึงวันที่ 7 พ.ย. 1979 และในปีถัดมาตลาดหุ้นก็ได้ปรับร่วงลงกว่า 20%
4. กรณีที่น่าจดจำที่สุด เกิดขึ้นในสมัยของนายอลัน กรีนสแปน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ “Market crash” หรือภาวะที่ไม่ว่าราคาหุ้นจะถูกแค่ไหนก็ไม่มีแรงเข้าซื้อ ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน หลังจากที่เขารับตำแหน่งในเดือน ส.ค. ปี 1987 ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับร่วงลงอย่างต่อเนื่องถึง 34.5% และลงมาทำระดับต่ำสุดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ในปีเดียวกันนั้น
ทั้งนี้ นายแซม สโตวอล นักกลยุทธ์ตลาดหุ้นจาก CFRA กล่าวว่า จากกรณีที่ยกข้างต้น การปรับร่วงลงของตลาดหุ้นอาจเป็นเรื่องปกติตามวัฐจักรของตลาดหุ้น ไม่ใช่จากระแสความไม่แน่นอนจากประธานเฟดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของนายโพเวล น่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเขาต้องเผชิญกับกระแสความผันผวนของตลาดจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ นโยบายปฏิรูปภาษี และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้นายโพเวลพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยจำนวนครั้งที่มากขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3 ครั้ง
ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วน ได้ประเมินว่า ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเฟดมากที่สุดในปีนี้ น่าจะเกิดจากสัญญาณการเปลี่ยนไปใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจากบรรดาธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะ อีซีบี ที่เริ่มชะลอการเข้าซื้อพันธบัตร และบีโอเจ ที่ออกมาส่งสัญญาณว่าจะออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในอนาคตอันใกล้นี้