• ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ร่วงลงไปทำระดับรายวันมากที่สุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะฟื้นตัวหลังจากที่ปรับตัวลดลงไปอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.8% ที่ระดับ 90.298 จุด
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของค่าเงินยุโร หลังมีรายงานว่า นายมาร์ติน หนึ่งในผู้นำพรรค SPD อาจไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนี นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรร่วงลงหลังสมาชิกอีซีบี กล่าวว่า สหรัฐฯมีความต้องการให้ดอลลาร์อ่อนค่า
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.82% ที่ระดับ 1.2274 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าขึ้นแตะ 109.710 เยน/ดอลลาร์ ท่ามกลางดัชนีนิกเกอิที่รีบาวน์ขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ
• นายจอห์น วิลเลียม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า เฟดจะไม่ทำการเข้มงวดกับแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้วาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งกว่าที่คาด และตลาดแรงงานจะมีความตึงตัวก็ตาม
• นายวิลเลียม ดัดเลย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ระบุว่า ความผันผวนอย่างหนักในตลาดหุ้นเมื่อไม่นานมานี้ ไม่อาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯและการดำเนินนโยบายการเงินเปลี่ยนแปลงไป
• บรรดาหัวหน้าวุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากทั้ง 2 พรรค เมื่อคืนที่ผ่านมา สามารถบรรลุข้อตกลงในร่างนโยบายที่จะขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะทำการลงมติในคืนนี้ทั้งในฝั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก อย่างไรก็ตามร่างนโยบายน่าจะได้รับเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดดุลของรัฐบาล
• บรรดาวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันเผย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูมีท่าทีจะไม่ยกเลิกสนธิสัญญา NAFTA มากขึ้น หลังจากการประชุมร่วมกันเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยนายทรัมป์แสดงความต้องการที่จะสนับสนุนการเจรจาปรับปรุงสนธิสัญญามากขึ้น พร้อมกล่าวว่า สัญญาดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อตลาดแรงงานสหรัฐฯ
• นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า การไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญา NAFTA ฉบับปรับปรุง อาจเป็นผลดีต่อแคดานามากกว่าที่จะยอมรับข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม
• ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ถูกคาดว่าจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจของอังกฤษสามารถขยายตัวได้เร็วกว่าที่คาดก่อนที่อังกฤษจะออกจากอียู หลังจากที่บีโออีได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว จากระดับ 0.50%
• ราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯปิดปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 1 เดือน หลังจากที่ข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ และปริมาณการผลิตจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ จึงยิ่งเพิ่มความกังวลว่าจะก่อให้เกิดแรงขายมากขึ้นและจะส่งผลต่อภาพขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบในปีนี้
ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 1.6 เหรียญ หรือคิดเป็น -2.5% ที่ระดับ 61.79 เหรียญ/บาร์เรล หลังจากลงไปทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 5 ม.ค. ที่ระดับ 61.33 เหรียญ/บาร์เรล ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายในตลาดอย่างหนัก ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.35 เหรียญ หรือคิดเป็น -2% ที่ระดับ 65.51 เหรียญ/บาร์เรล โดยทั้งน้ำมันดิบ WTI และBrent ต่างก็ปรับตัวลงติดต่อกัน 4 วันทำการ และมีภาพรวมร่วงลงรวมกันกว่า 6% แล้วในเวลานี้