· ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักแถว 90.28 จุด หลังจากปรับอ่อนค่าลงมาจากระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 90.446 จุด ท่ามกลางเหล่านักลงทุนที่กำลังเฝ้ารอผลการประชุมเฟดในคืนนี้ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับการใช้นโยบายเชิงคุมเข้มทางการเงิน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวอยู่กรอบระหว่าง 89.399 – 90.28 จุด ตลอดเดือน มี.ค. นี้ เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจากเฟด และแนวโน้มว่าเฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 4 ครั้งหรือไม่
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ปรับสูงขึ้น สู่ระดับ 2.349% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี
สำหรับค่าเงินยูโรทรงตัวแถวบริเวณ 1.2261 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากปรับอ่อนค่าลงมา 0.78% เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ 1.2240 ดอลลาร์/ยูโร เมื่อวานนี้
ขณะที่ค่าเงินเยนทรงตัวแถว 106.46 เยน/ดอลลาร์ หลังจากแข็งค่า 0.41% เมื่อวานนี้ โดยตลาดญี่ปุ่นวันนี้มีการซื้อขายเบาบางเนื่องจากเป็นวันหยุดธนาคาร เนื่องในวันวิษุวัต (Vernal Equinox)
· เป็นที่คาดการณ์กันอย่างอย่างกว้างขวางว่า ในการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือน มี.ค. ของเฟดที่จะได้ผลสรุปภายในคืนนี้ เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 1.50 – 1.75% เป็นครั้งแรกของปี 2018
นอกจากนี้ เฟดมีแนวโน้มสูงที่จะยังคงคาดการณ์จำนวนครั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ที่ทั้งหมด 3 ครั้งเช่นเดิม ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินไว้ถึง 4 ครั้ง ความขัดแย้งกันในจุดนี้ระหว่างเฟดและตลาด อาจเป็นเหตุให้เมื่อใดก็ตามที่เฟดประกาศหรือส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้ง อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนอย่างมากในตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นถูกแรงเทขายลงมา
สำหรับถ้อยแถลงหลังการประชุมครั้งแรกของนายเจอโรม โพเวล ประธานเฟดคนใหม่ มีแนวโน้มที่เขาจะกล่าวในเชิงคุมเข้มทางการเงิน โดยยืนยันถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯและการดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
· นายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า การประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ สามารถเกิดขึ้นได้จริง และการประชุมดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
· รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แห่งประเทศจีน ตอบโต้นโบบายเชิงกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ โดยระบุว่า จีนจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของจีน
· ดัชนีวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบรรดาประเทศในแถบเอเชีย โดย Thomson Reuters ปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 79 จุด ในไตรมาสที่ 1/2018 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน จึงช่วยลดความตึงเครียดเกี่ยวกับนโยบายเชิงกีดกันทางการค้าที่ดูรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่าบรรดาผู้ประกอบการในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย มีการปรับเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากที่สุด จึงแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเอเชียยังสามารถขยายตัวตามเศรษฐกิจทั่วโลกได้ โดยยังแรงหนุนจากเศรษฐกิจจีนที่มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 45% ในเดือน ก.พ. ที่ผ่าน ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่มากที่สุดในรอบ 3 ปี
· สำนักข่าว CNBC ชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มจะปรับทบทวนมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯในการประชุมสัปดาห์นี้ แต่ไม่มีมีแนวโน้มจะเปิดเผยเกี่ยวกับความเสี่ยงขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจจากความเป็นไปได้ที่จะเกิด Trade War
โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าเฟดน่าจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งเผยมุมมองเศรษฐกิจครั้งใหม่ รวมทั้งคาดการณ์ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่น่ากล่าวถึงภาวะสงครามทางการค้าใดๆที่ตลาดเป็นกังวลอยู่ ที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจได้ หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงยืนกรานจะเดินหน้าหามาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เฟดอาจจะหารือถึงประเด็นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าของนายทรัมป์ และโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิด Trade War แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจะให้เฟดได้ประเมินผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจสหรํัฐฯ ดังนั้น ประเด็นนี้จึงอาจไม่ใช่ประเด็นหลักในการนำเสนอคืนนี้
· หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Credit Suisse จากญี่ปุ่น กล่าวว่า บีโอเจต้องการให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นแตะ 2% ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2019 แต่ก็ดูจะมีโอกาสน้อยที่จะเห็นเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้ หากว่าเงินเยนยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งค่า ซึ่งปัจจุบันเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.9% ซึ่งอยู่ห่างจากเป้าหมายที่บีโอเจกำหนด
· ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางแรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และปริมาอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง แม้จะมีแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันสหรัฐฯที่สูงขึ้นก็ตาม
โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 0.2% บริเวณ 63.69 เหรียญ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.2% บริเวณ 67.56 เหรียญ/บาร์เรล