เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมระหว่าง 20-21 มี.ค.ที่ผ่านมา และคาดการณ์โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยมีไฮไลต์สำคัญคือความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากแผนปฏิรูปภาษีและค่าใช้จ่ายภาครัฐบาลที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนเงินเฟ้อและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมไปถึงการคุมเข้มทางการเงินของเฟด
เฟดประมาณการณ์ทิศทางดอกเบี้ยระยะยาวจะกลับสู่ “ระดับปกติ” ได้ โดยเฟดจะคงแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่เมื่อคืนนี้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่กรอบ 1.50 – 1.75% พร้อมกันนี้ เฟดยังคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้จำนวน 3 ครั้งในปีหน้าและอีก 2 ครั้งในปี 2020 ท่ามกลางสัญญาณความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
อ้างอิงสรุปคาดการณ์เศรษฐกิจของเฟด หรือ Fed Economic Projections ระบุว่า เฟดยังคงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ไว้ที่ 3 ครั้ง ขณะที่สมาชิกบางรายมองว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่านั้นเป็นจำนวน 4 ครั้งในปีนี้
ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีสหรัฐฯปีนี้จาก 2.5% ในเดือนธ.ค. สู่ระดับ 2.7% และปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2019 จาก 2.1% สู่ระดับ 2.4% แต่ภาพรวมการขยายตัวอาจชะลอตัวลงได้หลังจากนั้น โดยในปี 2020 เฟดยังคงคาดการณ์การขยายตัวไว้ที่ 2% และระยะยาวมองว่าจะยังอยู่ที่ 1.8%
สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อ เฟดยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อและ Core CPI ไว้ที่ระดับ 1.9% แต่ในปี 2019 คาดว่า ดัชนีการอุปโภคบริโภคของสหรัฐฯ หรือ Core Personal Consumption Expenditures จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.1% จาก 2% ได้ และในปี 2020 ก็ปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นมาจาก 2% สู่ระดับ 2.1% โดยเงินเฟ้อจะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลอัตราว่างงานในปัจจุบันที่มีโอกาสปรับตัวลดลงจากระดับ 4.1% ในขณะนี้ สู่ระดับ 3.8% ช่วงสิ้นปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.9% ในคาดการณ์เดิม ขณะเดียวกันก็มองว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6%ในปี 2020 จากคาดการณ์เดิมที่ 4%
รายงานจากเฟด ระบุว่า บรรดาสมาชิกเฟดประเมินว่านโยบายปฏิรูปภาษีรวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆของคณะบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสามารถช่วงหนุนเศรษฐกิจได้เต็มที่2 ปี หลังจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจชะลอตัวลง จึงเป็นรายงานมุมมองต่อเศรษฐกิจของเฟดฉบับแรกในรอบกว่าทศวรรษ ที่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจในเชิงถูกจำกัดการเติบโต
• เครื่องมือ FedWatch จาก CME Group ชี้ว่าเฟดจะทำการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปในการประชุมระหว่าง 12-13 มิ.ย. และทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธ.ค.
• ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงอย่างหนักสำหรับภาพรายวันในช่วง 2 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังจากที่เฟดยังคงมุมมองจำนวนการขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ไว้ที่ 3 ครั้ง เนื่องจากพวกเขาต้องการรอเห็นการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ โดยดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 0.77% สู่ระดับ 89.678 จุด ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นการร่วงลงรายวันมากที่สุดนับตั้งแต่ 24 ม.ค. ขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่ากลับลงมา 0.54% ที่ระดับ 105.95 เยน/ดอลลาร์ และค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น 0.82% ที่ระดับ 1.2340 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่ารายวันที่มากที่สุดในรอบ 2 เดือน
• ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปีอ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดนับตั้งแต่ก.ย. ปี 2008 ที่ระดับ 2.366% สู่ระดับ 2.308% หลังทราบผลประชุมเฟด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี อ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดเมื่อ 12 มี.ค. บริเวณ 2.936% สู่ระดับ 2.894%
• นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบรรดาผู้นำทางการเมือง ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการสนับสนุนร่างงบประมาณฉบับล่าสุดที่ได้กำหนดงบประมาณให้กับรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 1.3 ล้านล้านเหรียญ เพื่อป้องกันภาวะ Shutdown ก่อนที่ร่างงบประมาณฉบับก่อนจะหมดอายุลงในคืนวันศุกร์นี้
ในเบื้องต้น นายทรัมป์ได้ให้การสนับสนุนร่างงบประมาณดังกล่าว แม้ร่างงบประมาณจะยังไม่ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะก็ตาม แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า ร่างงบประมาณน่าจะถูกเปิดเผยในเร็วๆนี้
• รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำการเปิดเผยรายละเอียดของนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีนภายในคืนนี้ พร้อมจะลงนามในบันทึกเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวในช่วงเวลาประมาณ 5 ทุ่มครึ่ง ตามเวลาประเทศไทย
• รายงานจากรัฐบาลจีนระบุว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ประณามว่าสหรัฐฯ เป็นผู้ทำลายนโยบายเกื้อหนุนการค้ามาโดยตลอดนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา พร้อมเรียกร้องให้องค์การการค้าโลกเร่งหาทางแก้ไขเป็นการด่วน
• รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี กล่าวว่า นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีเป็นอย่างมาก
• ผลสำรวจจากรอยเตอร์ส พบว่า บรรดาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นกว่า 74% เห็นด้วยว่าทางบีโอเจจะยังไม่มีการเปลี่ยนไปใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจนกว่าจะถึงปี 2019 เป็นต้นไป แต่เห็นด้วยว่าบีโอเจควรทะยอยยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
• นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานบริษัท Facebook ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัทในการบริหารข้อมูลของบัญชีผู้ใช้กว่า 50 ล้านบัญชี พร้อมให้สัญญาว่าจะปรับปรุงการบริหารข้อมูลผู้ใช้งานใหม่ ให้มีความเข้มงวดมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันการถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อย่างไม่เหมาะสมในอนาคต
• ราคาน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดรอบ 6 สัปดาห์ จากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ปรับตัวลดลง และการปรับลดกำลังการผลิตที่แข็งแกร่งของกลุ่มโอเปกจึงช่วยลดความกังวลต่อกรณีข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 2.05 เหรียญ คิดเป็น +0.3% ที่ระดับ 69.47 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบเกือบ 7 สัปดาห์
• ทางด้านน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 1.63 เหรียญ คิดเป็น +2.6% ที่ระดับ 65.17 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ 2 ก.พ.