การประชุมเฟดในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มที่เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ย แต่กระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่ก็ยังมุ่งเน้นไปว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิ.ย.มากกว่า จากการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อและอัตราว่างงานระดับต่ำ
เฟดจะประกาศผลการประชุมในช่วงเวลาประมาณตี 1 บ้านเรา ซึ่งในการประชุมวาระนี้ ไม่มีการกล่าวถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด และนักเศรษฐศาสตร์จาก JPMorgan มองว่า ถ้อยแถลงเฟดดูจะหนุนกระแสคาดการณ์เพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี เฟดได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ไปในการประชุมเมื่อ 20-21 มี.ค. อีก 0.25% สู่กรอบ 1.5 – 1.75% และ ณ ปัจจุบันคาดการณ์ของเฟดบ่งชี้ว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้ง แต่ตลาดก็มองว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาดการณ์ โดยอาจขึ้นได้อีก 3 ครั้ง โดยเฟดจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 12-13 มิ.ย. และการประชุมวาระนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่ปัจจัยเกื้อหนุนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ อัตราว่างงานที่ยังแตะระดับต่ำรอบ 17 ปีบริเวณ 4.1% และแผนปรับลดภาษี รวมทั้งกระตุ้นทางการเงินของนายทรัมป์
แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
จากข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุด ส่งสัญญาณว่าถึงแม้สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งแต่ก็ยังไม่เพียงพอให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น แต่ภาพรวมของข้อมูลล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ของเฟด
โดยมาตรวัดเงินเฟ้อของเฟดขยายตัวได้ 1.9% ในช่วง 12 เดือนในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ ก.พ. ปี 2017 หลังจากที่ขยายตัวได้ 1.6% ในเดือนก.พ. ปีนี้
นักเศรษฐศาสตร์จาก Deutsche Bank ระบุว่า เงินเฟ้อที่ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของเฟด อาจเป็นประเด็นสำคัญมากในการประชุมเดือนนี้ และอาจมีแนวทางการเปลี่ยนแปลงระดับเป้าหมาย 2% ได้
สำหรับข้อมูลอื่นๆ อาทิ จีดีพีที่ขยายตัวได้ 2.3% ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบกับค่าแรงและเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 0.9% ถือเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2007
อย่างไรก็ดี บรรดาสมาชิกเฟดก็ยังมีความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นได้จากนโยบายกีดกันทางการค้าของนายทรัมป์ แต่ก็คาดหวังว่าภาวะ Trade War ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะสามารถคลี่คลายลงไปด้ในการเจรจาวันพฤหัสบดีและวันศุกร์นี้
ที่มา: Kitco