ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สงครามทางการค้าอาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่า สงครามการค้าไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่เลย
ศาสตราจารย์ฮาโรลด์ เจมส์ ประจำมหาวิทยาลัย Princeton และนักประวัติศาสตร์ประจำองค์กร IMF ได้อธิบายถึงสงครามทางการค้าครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังต่อไปนี้
สงครามการค้า Smoot-Hawley (ปี 1930-1934)
สงครามการค้าครั้งสำคัญที่เป็นต้นเหตุของภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Depression)มีจุดเริ่มต้นมาจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าภายในนโยบายที่ถูกเรียกว่า นโยบายภาษีSmoot-Hawley
นโยบายภาษี Smoot-Hawley ถูกเรียกเช่นนั้น ตามชื่อของข้าราชการสหรัฐฯ 2 คน ซึ่งก็คือนายรีด สมูท (Reed Smoot) และนายวิลลิส ฮาวลีย์ (Willis Hawley) ที่เขียนนโยบายขึ้นมาเพื่อปกป้องเกษตรกรสหรัฐฯ ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยนโยบายกีดกันทางการค้า แต่ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าสู่สหรัฐฯหลายพันรายการ
วัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าว ก็เพื่อทำให้มูลค่าของสินค้าต่างชาติสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ชาวสหรัฐฯหันมาใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศอื่นๆได้ต่อต้านนโยบายดังกล่าว ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯเสียเอง ส่งผลให้สินค้าในสหรัฐฯมีมูลค่าที่สูงขึ้น
สงครามการค้า “Chicken War" (1962-1963)
สงครามการค้าครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1960 โดยเริ่มต้นข้นจากการที่ยุโรปมีการนำเข้า “เนื้อไก่แช่แข็ง” จากสหรัฐฯเป็นปริมาณมหาศาล โดยคิดเป็น 1% ของยอดนำเข้าสัตว์ปีกทั้งหมดของเยอรมนีฝั่งตะวันตกในปี 1956 และหลังจากนั้นเพียง 6 ปี ยอดนำเข้าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับเกือบ 25%
ต่อมาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจประจำทวีปยุโรป ในปี 1962 ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเนื้อไก่ สหรัฐฯจึงไม่ยอม และตอบโต้ด้วยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป 4 รายการสำคัญ ซึ่งก็คือ แป้งมันฝรั่ง, ยา, บรั่นดี และรถบรรทุกขนาดเล็ก
ความขัดแย้งทางการค้า สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น (ช่วงปี 1980)
ในช่วงปี 1980 ยอดส่งออกจากญี่ปุ่นสู่สหรัฐฯ กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์โดยสาร ที่คิดเป็นสัดส่วน 6.5% ของตลาดรถยนตร์สหรัฐฯในปี 1973 และขยายตัวเป็น 21% ในปี 1980
นั่นจึงเป็นสาเหตุให้บรรดาผู้ประกอบการในสหรัฐฯเริ่มกังวลว่ารถยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นกำลังจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดรถยนตร์ของพวกเขา
รัฐบาลสหรัฐฯจึงออกนโยบายขึ้นภาษีรถยนตร์นำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อใช้เครื่องมือใหม่ในการต่อรองหรือเจรจาสนธิสัญญาการค้าฉบับใหม่ แต่สิ่งสำคัญของความขัดแย้งทางการค้าครั้งนี้ แตกต่างกับเหตุการณ์ในปี 1930 เนื่องจาก ความขัดแย้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีสัญญาทางการค้าขึ้น ก่อนที่ “ความขัดแย้ง” จะพัฒนาไปสู่ “สงครามทางการค้าเต็มรูปแบบ”
“จะเห็นได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการปรับขึ้นภาษี จะยิ่งชักนำให้เกิดการต่อต้านขึ้นจากฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ เมื่อตอบโต้กันไปตอบโต้กันมา การที่จะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันก็จะยิ่งเป็นไปยากยิ่งขึ้น”