5 ปัจจัยสำคัญของตลาดโลกที่บรรดานักลงทุนต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดตลอดสัปดาห์นี้ ได้แก่
1.การขยายตัวของเงินเฟ้อ
ทางเฟดได้ออกยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯกำลังขยายตัว จึงเป็นสัญญาณที่ช่วยหนุนให้กระแสคาดการณ์ว่าเฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยจังหวะที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะเปิดเผยสัปดาห์นี้ ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยหนุนกระแสคาดการณ์ดังกล่าวขึ้นไปอีก
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ คือดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค (PPI และ CPI) ที่จะเปิดเผยในคืนวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ แม้จะมีกระแสคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจทั้ง 2 ตัวมากนัก หลังจากที่สามารถปรับขึ้นมาได้จากกระแสคาดการณ์เดียวกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เฟดได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งสำหรับปีนี้ แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อสามารถขยายตัวได้ตามเป้า ก็มีโอกาสที่เฟดจะเพิ่มการปรับอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง
2. ประชุม BoE
วันที่ 10 พ.ค. นี้ จะมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) โดยตลาดคาดการณ์กันเป็นวงกว้างว่าทาง BoE จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ กระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BoE มีความผันผวนอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่นักลงทุนคาดโอกาส 90% ที่ BoE จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% แต่เนื่องจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาไม่สดใสนัก จึงทำให้กระแสคาดการณ์ลดฮวบลดลงมา ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนคาดว่าทาง BoE อาจไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับปี 2018 เลย
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่า BoE หลังจากการประชุมก็จะยังเป็นที่จับตาดูของตลาด เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต แต่ถ้าหากถ้อยแถลงออกไปเชิงผ่อนคลายทางนโยบายการเงิน ค่าเงินปอนด์อังกฤษก็มีโอกาสอ่อนค่าลงอีก
3. อาร์เจนติน่าและตุรกี
นับตั้งแต่ที่บรรดาตลาดเกิดใหม่ถูกแรงเทขายลงมาเมื่อ 5 ปีก่อน จากการที่ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าและตุรกีก็ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวอยู่
โดยที่ค่าเงินของทั้ง 2 ประเทศก็เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยทางการอาร์เจนติน่าได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินสู่ระดับ 40% ถึง 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ทางตุรกีเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% หลังจากที่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาตลอดหลายปี
ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศที่สูงขึ้นอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่ด้วยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ยังคงทิศทางขาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ประกอบพันธบัตรสหรัฐฯที่เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของอาร์เจนติน่าและตุรกีจึงไม่มีท่าทีว่าจะจบสิ้นในเร็วๆนี้แต่อย่างใด
4.ค่าเงินยูโรและตลาดหุ้นยุโรป
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างคาดไม่ถึง หลังจากที่ผลประกอบการที่อ่อนแอของตลาดหุ้นยุโรปในไตรมาสที่ 1/2018 จากค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น โดยในปัจจุบันค่าเงินยูโรโคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปมีผลประกอบที่เหนือกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือน เม.ย.
ดังนั้น ตลาดหุ้นยุโรปในเดือน พ.ค. จึงดูมีจุดเริ่มต้นที่สดใสหลังจากปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันได้ 3 เดือน และถ้าหากตลาดหุ้นยุโรปยังคงทิศทางขาขึ้นได้ในเดือนนี้ ก็จะเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
5.ตลาดเอเชีย
บรรดานักลงทุนในตลาดเอเชียดูจะมีความตื่นตระหนกกับการปรับตัวสูงขึ้นของพันธบัตรสหรัฐฯและราคาน้ำมัน ส่งผลให้เกิดกระแสไหลออกของเงินทุนในตลาดเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย อินเดีย ไทย เกาหลีใต้ และ มาเลเซีย
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ทางธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องเข้ามาชะลอการอ่อนค่าของค่าเงินในประเทศและคงสภาพคล่องของตลาดเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังคงมีความลังเลที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
จึงทำให้ทุนสำรองของธนาคารกลางที่เก็บสะสมมาตลอด ถูกดึงออกไปใช้เป็นปริมาณมาก โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียได้นำทุนสำรองออกไปแล้วกว่า 6 พันล้านเหรียญของทุนสำรองทั้งหมด
ทั้งนี้ ทางธนาคารกลางฟิลิปปินส์และอินโดเซียจะมีการเปิดเผยข้อมูลเงินทุนสำรองภายในสัปดาห์นี้ รวมถึงข้อมูลของกระแสเงินทุนของตลาดพันธบัตรในช่วงเดือนเม.ย. ข้อมูลดังกล่าวจึงอาจจะสามารถบ่งชี้ได้ว่าบรรดาธนาคารกลางในเอเชียจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในเร็วๆนี้หรือไม่