• ทำไมการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านถึงเป็นเรื่องใหญ่?

    9 พฤษภาคม 2561 | Economic News
 

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวสหรัฐฯออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์กับอิหร่านที่ร่วมลงนามในปี 2015 สมัยรัฐบาลของนายบารัค โอบาม่า ประธาธิบดีสหรัฐฯคนก่อน พร้อมกับอิหร่านและประเทศพันธมิตร

การตัดสินของนายทรัมป์เป็นการขัดแย้งต่อความประสงค์ของบรรดาประเทศพันธมิตรฝั่งยุโรปอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเยอรมนี ที่อาจกลายเป็นชนวนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลวร้ายลง




โดยล่าสุด นายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ทวีตข้อความตำหนิการตัดสินใจดังกล่าวว่า “ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ มีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่งต่อการถอนตัวออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ความพยายามป้องกันการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติ”

ทางด้านประเทศพันธมิตรอย่างรัสเซียและจีน ได้มีการตกลงกันเพื่อจะชะลอการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นการชั่วคราว หากอิหร่านยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการยอมให้นานาชาติสามารถเข้าตรวจสอบได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การตัดสินใจของนายทรัมป์ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและประเทศพันธมิตร โดยประเด็นล่าสุด ก็คือการที่เขาประกาศจะขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมนำเข้าจากนานาประเทศทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้

ผลกระทบที่จะตามมาจากการถอนตัวของสหรัฐฯเป็นอย่างแรก คือ ความผันผวนของตลาดน้ำมัน เนื่องจากอิหร่านถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มโอเปก ถึงแม้ราคาน้ำมัน Brent จะค่อยๆปรับสูงขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการถอนตัวของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายคว่ำบาตรอิหร่านที่สหรัฐฯจะประกาศตามมาทีหลังก็ตาม ดังนั้น ความรุนแรงของความผันผวนในตลาด จะขึ้นอยู่กับว่าทางสหรัฐฯมีการคว่ำบาตรอิหร่านที่หนักมากแค่ไหน

ขณะที่ทางเลขาธิการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวยับยั้งความกังวลในตลาดน้ำมัน โดยระบุว่า นโยบายคว่ำบาตรอิหร่านอาจเป็นการทยอยลดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลงภายในระยะเวลา 90 วัน และ 180 วัน

นอกจากนี้ หากสหรัฐฯตัดสินใจประกาศคว่ำบาตรอิหร่านโดยไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาเพียงพอว่าทางการอิหร่านมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะเป็นการขัดแย้งต่อสนธิสัญญาที่สหรัฐฯเป็นผู้ร่างขึ้นมาเสียเอง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทางการอิหร่านได้มีการเก็บสะสมแร่ยูเรเนียมและพลูโตเนียมซึ่งเป็นส่วนประกอบของระเบิดนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากก่อนหน้าการเขียนร่างสัญญาขึ้นมาเมื่อปี 2015 ถึงแม้ทางอิหร่านจะอ้างว่าการพัฒนานิวเคลียร์ของพวกเขาจะมีวัตถุประสงค์เชิงสันติก็ตาม การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์พลูโตเนียมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของพวกเขาได้ก่อให้เกิดข้อต้องสงสัยจากนานาประเทศ

ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ทางนายทรัมป์มีการข่มขู่จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญามาก่อนหน้านี้ ทางด้านนายฮัสซัน โรฮานีประธานาธิบดีอิหร่าน ก็ได้ออกมากล่าวว่ารัฐบาลอิหร่านจะมีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯหากถอนตัวออกจริง พร้อมยืนยันว่าอิหร่านจะยืนหยัดหาวิธีเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป แม้อาจจะถูกนานาประเทศคว่ำบาตรก็ตาม


ที่มา: CNBC


บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด
40,42,44 ถนนทรัพย์สิน แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร กรุงเทพ 10200
โทรศัพท์ 0 2770 7777 โทรสาร 0 2623 9366 E-mail: support@mtsgoldgroup.com