ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาตลาดจะเผชิญกับความผันผวนอย่างมากจากเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมรับมือตลาดในเดือน มิ.ย. นี้ เราไปดูกันก่อนว่า ภายในเดือน มิ.ย. จะมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่จะสร้างผลกระทบต่อตลาด
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องจับตา มีทั้งหมด 6 เหตุการณ์โดยเรียงตามช่วงเวลาได้ดังต่อไปนี้
1. สวิสเซอร์แลนด์ลงประชามติ 10 มิ.ย.
สวิสเซอร์แลนด์จะมีการลงประชามติเกี่ยวกับนโยบายการเงินภายในวันอาทิตย์ที่ 10 มิ.ย. โดยการลงประชามติครั้งนี้ จะเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้กับธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์ให้ผู้เดียวที่สามารถสามารถพิมพ์เงินได้หรือไม่ แต่ทางการธนาคารกลางเองกลับโต้แย้งว่าการทำเช่นนั้น จะทำให้ธนาคารกลางสูญเสียความสามารถในการออกนโยบายการเงิน
หากการลงประชามติผ่าน และธนาคารกลางสวิสเซอร์แลนด์กลายเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการผลิตเงินในประเทศ อาจทำให้บรรดานักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในค่าเงินสวิสฟรังก์ เนื่องจากปริมาณเงินในประเทศไม่ได้เกิดจากปริมาณสินทรัพย์ จึงอาจทำให้ภาคธนาคารมีผลประกอบการย่ำแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนที่สนับสนุนมติดังกล่าวเพียง 35% แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการพลิกโผเหมือนกรณี Brexit
2.ประชุมเฟด 12-13 มิ.ย.
ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด จะมีการประชุมประจำเดือนในวันที่ 12-13 มิ.ย. และมีแนวโน้มสูงที่การประชุมครั้งนี้เฟดจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2018 สู่ระดับ 1.75 - 2.0%
สิ่งสำคัญที่ตลาดจะจับตา คือสัญญาณที่เฟดอาจทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ 3 ครั้ง ซึ่งกระแสคาดการรืดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016
3. การประชุมระหว่างทรัมป์และคิม กำหนดการเดิมวันที่ 12 มิ.ย.
การประชุมร่วมกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ยังคงไร้ความชัดเจนว่าจะสามารถพบกันได้ตามกำหนดการเดิม คือวันที่ 12 มิ.ย. หรือไม่ โดยทางนายทรัมป์ได้แสดงความหวังว่าจะได้พบกับนายคิม เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
4. การประชุมโอเปก 22 มิ.ย.
ท่ามกาลราคาน้ำมัน Brent ที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 80 เหรียญ/บาร์เรล การประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 มิ.ย. จะเป็นที่จับตาอย่างมากของตลาดน้ำมัน
นับตั้งแต่ในปี 2017 ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มโอเปกรวมถึงรัสเซียและสมาชิกนอกกลุ่มได้ตกลงกันที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปี 2018 เพื่อลดปัญหาภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. ที่จะจัดขึ้นในกรุงเวียนนา จะเป็นตัวติดสินว่ากลุ่มโอเปกจะตัดสินขยายระยะเวลาของการลดกำลังการผลิตออกไปหรือไม่
5.ตุรกีเลือกตั้งประธานาธิบดี 24 มิ.ย.
เศรษฐกิจตุรกีถือได้ว่าเป็นอีกเศรษฐกิจหนึ่งที่รุ่งเรืองอย่างมาก จนกระทั่งเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักในตลาดการเงินและตลาดพันธบัตรภายในปีนี้ โดยตุรกีจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นในวันที่ 24 มิ.ย. เบื้องต้นคาดว่านายไตยิป แอร์โดอัน (Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะยังได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดเช่นเดิม
6. เจรจา Brexit 28-29 มิ.ย.
บรรดานักการทูตต่างหวังว่าการเจรจา Brexit ระหว่างตัวแทนจากอังกฤษและสหภาพยุโรปในวันที่ 28-29 มิ.ย. จะมีความคืบหน้ามากพอที่จะช่วยให้รับบาลอังกฤษสามารถดำเนินการในขั้นต่อไปได้ ก่อนที่จะถึงกำหนดในเดือนมี.ค.ปีหน้า
ทั้งนี้ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยังคงตกอยู่ในที่นั่งลำบากท่ามกลางฝ่ายที่สนับสนุน Brexit ที่ต้องการให้อังกฤษตัดขาดกับสหภาพยุโรปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ฝ่ายค้านยังคงต้องการให้คงความร่วมมือกับสหภาพในบางส่วนเอาไว้
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอังกฤษก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการเจรจา Brexit จนทำให้ค่าเงินปอนด์อังกฤษปรับอ่อนค่าลงต่อเนื่องติดต่อกันถึง 6 สัปดาห์