· ค่าเงินดอลลาร์เมื่อคืนวานนี้อ่อนค่าลงจากข้อมูลกิจกรรมภาคธุรกิจของเฟดแอตแลนต้าออกมาแย่ลงเหนือความคาดหมายแตะระดับ 19.9 จุดในเดือนมิ.ย. จากระดับ 34.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ม.ค. ปี 2014 แต่ข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่ออกมาดีขึ้นก็ได้ช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวได้บ้าง โดยดัชนีดอลลาร์ปรับลงมาที่ 94.762 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดวานนี้ทำระดับสูงสุดใหม่รอบ 11 เดือนบริเวณ 95.529 จุด
ทางด้านค่าเงินยูโรรีบาวน์จากระดับต่ำสุดรอบ 11 เดือนกลับมาที่ 1.1618 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่เมื่อวานนี้ปรับลงไปทดสอบแนวรับสำคัญทางเทคนิคบริเวณ 1.15 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ 110.93 เยน/ดอลลาร์
ค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าเกือบ 0.7% ที่ระดับ 1.3257 ดอลลาร์/ปอนด์ โดยตลาดฟื้นตัวจากระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 7 เดือน หลังหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบีโออีให้การสนับสนุนโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.75% จากระดับ 0.5% ในการประชุมรอบหน้าเดือนส.ค. แม้ว่าจะยังมีความกังวลต่อแรงกดดันค่าแรงอยู่บ้างก็ตาม
· ธนาคารกลางอังกฤษหรือบีโออีดูจะมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า และจะเป็นครั้งที่ 2 ในรอบทศวรรษที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบีโออี แสดงท่าทีในการจะเข้าร่วมกับสมาชิกบีโออีในการโหวตให้มีการขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่สัญญาณชี้นำครั้งใหม่จากบีโออีสะท้อนว่าบีโออีอาจเริ่มต้นขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเป็นจำนวน 4.35 แสนล้านปอนด์ (5.74 แสนล้านเหรียญ) รวมทั้งอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาที่ระดับ 1.5% และนั่นส่งผลให้ค่าเงินปอนด์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งตอบรับข่าวดังกล่าว โดยถือเป็นการปรับแข็งค่าระดับวันที่มากที่สุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอังกฤษระยะสั้นดีดตัวขึ้นจากตลาดที่ตอบรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของบีโออี
นักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ตลาดแปลกใจที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบีโออี ได้เปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของบีโออีในการประชุมเดือนหน้า
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ในการทดสอบ Stress Test ภาคธนาคารของสหรัฐฯโดยเฟด พบว่า จำนวนภาคธนาคารขนาดใหญ่ 35 แห่งมีภาวะสมดุลในการเพิ่มเม็ดเงินปันผล, การซื้อคืนหุ้น รวมทั้งการลงทุนในภาคธุรกิจ ดังนั้น จึงสะท้อนว่าในการทดสอบครั้งแรกของปีนี้ ภาคธนาคารรายใหญ่มีเม็ดเงินเพียงพอที่จะทนทานหรือรับมือกับสภาวะชะลอได้
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวอ้างว่าเกาหลีเหนือได้เริ่มดำเนินการทำลายสถานที่พัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่เป็นจำนวน 4 แห่งแล้วนับตั้งแต่การประชุมระหว่างเขาและนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางทำเนียบขาวได้เปิดเผยว่ายังคงไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการดำเนินการดังกล่าวของเกาหลีเหนือ
· นายเวส มิทเชล (Wess Mitchell) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจกรรมระหว่างยุโรปและยูเรเซียแห่งสหรัฐฯ กล่าวอ้างว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อประเทศอิหร่าน การออกนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม รวมถึงการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปเพิ่มงบประมาณทางการทหาร ล้วนแต่เป็นกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบรรดาประเทศฝั่งตะวันตก ไม่เช่นนั้นประเทศมหาอำนาจในฝั่งตะวันออกอย่างรัสเซีย จีน หรืออิหร่าน อาจเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่าย
· ไอเอ็มเอฟมีแนวโน้มจะปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในยูโรโซน จากากรที่เผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทางการค้า, การเจรจา Brexit และตลาดที่กังวลต่อภาวะทางการเงินของอิตาลีและประเทศอื่นๆ
· ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นขยายตัวในเดือน มิ.ย. ด้วยอัตราที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกกลับชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่าปริมาณอุปสงค์จากต่างประเทศกำลังเริ่มลดน้อยลง
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ของญี่ปุ่นขยายตัวสู่ระดับ 53.1 จุด จากเดิมที่ระดับ 52.8 จุดในเดือน พ.ค.
· ราคาน้ำมันดิบปิดลดลงกว่า 2% ก่อนการประชุมโอเปก ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด โดยน้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.69 เหรียญ คิดเป็น 73.05 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 17 เซนต์ คิดเป็น 65.54 เหรีญ/บาร์เรล
· ผลการประชุมโอเปกและสมาชิกผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกโอเปก ต่างเห็นพ้องกันในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แม้ว่าทางซาอุดิอาระเบียจะกล่าวเตือนถึงภาวะขาดแคลน แต่อิหร่านก็ดูมีท่าทีที่จะตกลงดำเนินการตามข้อตกลง ท่ามกลางแนวโน้มที่ภาวะการส่งออกภายในประเทศอาจปรับตัวลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย กล่าวว่าจะทำการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 1% จากภาวะอุปทานทั่วโลก และกลายมาเป็นหนึ่งในข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร แต่การยินยอมต่อข้อตกลงจากทางอิหร่านก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน
กลุ่มโอเปกจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันนี้ เพื่อตัดสินใจต่อนโยบายการผลิตน้ำมัน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน และอินเดีย ที่ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ประเทศอิหร่านมีท่าทีต่อต้านต่อแนวคิดปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่กำลังดำเนินการประชุมในวันนี้ ขณะที่ทางด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯก็กำลังกดดันให้กลุ่มโอเปกตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน