· ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลงคืนวันศุกร์ จากถ้อยแถลงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯเกี่ยวกับการแข้งค่าของค่าเงินดอลลาร์และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่หั่นการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับขึ้นไปทำระดับสูงสุดรอบ 1 ปี
โดยตลาดให้ความสำคัญไปยังประเด็นที่นายทรัมป์ กล่าวตำหนิถึงการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์จะทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบ ในขณะที่เขาจะทำการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่า 5 แสนล้านเหรียญ
ดัชนีดอลลาร์ปรับลง 0.77% ที่ระดับ 94.417 จุด หลังจากที่ไปทำระดับสูงสุดรอบ 1 ปี บริเวณ 95.62 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้น 0.7% ที่ระดับ 1.1725 ดอลลาร์/ยูโร
ทางด้านค่าเงินหยวนปรับแข็งค่าขึ้นแตะ 6.7784 หยวน/ดอลลาร์ แต่ภาพรวมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเงินหยวนอ่อนค่าขึ้นไปเกือบ 8% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์
· ขณะที่วันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนมีการปรับค่ากลางเงินหยวนต่อเนื่อง 7 วันทำการสู่ระดับ 6.7671 หยวน/ดอลลาร์ หรือปรับอ่อนค่าขึ้น 0.9% จากระดับก่อนหน้าที่ 6.7066 หยวน/ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี การปรับค่ากลางเงินหยวนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 14 ก.ค. ปี 2017 และเป็นระดับเปอร์เซ็นต์การอ่อนค่ารายวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่ 27 มิ.ย. ปี 2016
· รายงานจาก CFTC เผยว่า บรรดากลุ่มนักลงทุนมีการเพิ่มการถือครองสถานะ Long ในค่าเงินดอลลาร์มากที่สุดนับตั้งแต่ มี.ค. ปี 2017
โดยมูลค่าการถือครองสถานะ Long ในดอลลาร์สุทธิอยู่ที่ 1.841 หมื่นล้านเหรียญในช่วงสิ้นสุดสัปดาห์ที่ 17 ก.ค. เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีมูลค่าที่ 1.641 หมื่นล้านเหรียญ โดยบรรดานักลงทุนทำการถือครองสถานะ Long สุทธิติดต่อกัน 5 สัปดาห์ หลังจากที่มีการถือครอง Short ต่อเนื่องก่อนหน้านั้นถึง 48 สัปดาห์
· รัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กล่าวเตือนว่า ญี่ปุ่นควรระมัดระวังเกี่ยวกับถ้อยแถลงของนายทรัมป์เมื่อไม่นานมานี้ที่ต้องการเห็นค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ร่วมถึงท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินด้วย เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าแต่อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินฝืดด้วย
· ขณะที่ถ้อยแถลงของนายทรัมป์สัปดาห์ที่แล้ว นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า นายทรัมป์ ไม่ได้พยายามเข้าแทรกแซงตลาดการเงิน เพียงแต่ย้ำถึงการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์อาจสะท้อนถึงภาวะที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯและผลประโยชน์ในระยะยาวเท่านั้น
· คืนวันศุกร์ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า พร้อมที่จะเดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่าทั้งหมด 5 แสนล้านเหรียญ ซึ่งท่าทีคุกคามทางการค้าที่มากขึ้นได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ตลาดการเงิน
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดระดับสูงหลายรายก็มีการกล่าวเตือนว่า Trade War อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสหรัฐฯได้
· สถาบัน IMK แห่งเยอรมนีคาดการณ์ว่า นโยบายขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบให้เยอรมนีสูญเสียรายได้ไปกว่า 2 หมื่นล้านยูโร (2.344 หมื่นล้านเหรียญ) ภายในปี 2018 นี้ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ข่มขู่จะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปอีกด้วย
· กลุ่มภาคอุตสาหกรรมเยอรมนี กล่าวเตือนว่า ก่อนที่นายฌ็อง คลอด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการอียู จะเข้าพบกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันพุธนี้ การที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้า อาจเป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับสหรัฐฯเอง
· นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า บรรดาผู้นำประเทศในกลุ่ม G7 กำลังพิจารณาข้อเรียกร้องของนายมนูชินที่ให้ประเทศกลุ่ม G7 ลดกำแพงการค้ารวมถึงยกเลิกภาษีและข้อจำกัดอื่นๆลง ขณะที่ตัวแทนจากสภาพยุโรปก็ได้เรียกร้องให้จัดการประชุมสุดยอดร่วมกันระหว่างทีมบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์และตัวแทนจากสหภาพยุโรป
นายมนูชินได้กล่าวข้อความดังกล่าวภายหลังการประชุม G20 พร้อมยืนยันว่า จุดยืนทางการค้าของนายทรัมป์ไม่ได้เป็นการกีดกันทางการค้า เพียงแต่ต้องการการค้าที่เป็นเสรีและยุติธรรมกับสหรัฐฯเท่านั้น
ทั้งนี้ นายฮิวเบิร์ท ฟัจส์ คณะกรรมธิการประจำสหภาพยุโรป ได้เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปไม่ได้บังคับให้สหรัฐฯยกเลิกนโยบายขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมก่อนที่จะสามารถจัดการประชุมร่วมกับสหภาพยุโรปได้
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมกล่าวแสดงสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯหลากหลายรายการตั้งแต่เนื้อสัตว์ยันเครื่องบินรบ ภายในวันจันทร์นี้ ณ ทำเนียบขาว เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
· การประชุมระหว่างบรรดาผู้นำด้านการเงินจากกลุ่มประเทศ G20 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พยายามเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้าที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการค้า และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การประชุมจบลงโดยที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการกล่าวเตือนว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แม้จะยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่บางประเทศเริ่มส่งสัญญาณของการชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงระยะสั้นและระยะกลางที่เพิ่มมากขึ้น
· ราคาน้ำมันดิบคืนวันศุกร์ปรับตัวขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์และการคาดการณ์ที่ว่ายอดส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียเดือนส.ค. จะปรับตัวลดลง จึงช่วยลดความกังวลต่อประเด็นตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมทั้งภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ที่กำลังหมดอายุปิดปรับขึ้น 1 เหรียญ ที่ระดับ 70.46 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่สัญญาณเดือนก.ย. ที่มีสภาพคล่องมากกว่าปิดเพิ่มขึ้น 2 เซนต์ ที่ระดับ 68.26 เหรียญ/บาร์เรล แต่โดยภาพรวมน้ำมันดิบ WTI สัปดาห์ที่แล้วปิดลดลงไปเกือบ 1% ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 49 เซนต์ ที่ระดับ 73.07 เหรียญ/บาร์เรล และในสัปดาห์ที่แล้วร่วงลงไป 3.1%