· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน หลังจากที่บีโอเจมีความตั้งใจจะคงดอกเบี้ยระดับต่ำไว้ก่อน ขณะที่ภาพรวมของดัชนีดอลลาร์ทรงตัวก่อนทราบผลประชุมเฟดที่จะสิ้นสุดการประชุมวันที่ 2 ในคืนนี้เวลาตี 1 ตามเวลาไทย
ค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าขึ้นมา 0.69% มาแถวระดับ 111.83 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับการปรับอ่อนค่าที่มากที่สุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ ขณะที่ภาพรวมเดือนที่ผ่านมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่าประมาณ 1% และถือเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่องเดือนที่ 2
ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 0.19% ที่ระดับ 94.504 จุด ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่รอคอยผลประชุมเฟดในคืนนี้ โดยกลุ่มนักลงทุนมองหาสัญญาณการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อจากเฟด ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าหรือความไม่แน่นอนทางการค้า
· นักวิเคราะห์จาก FXTM กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในการเข้าถือครองดอลลาร์อาจเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หากว่าเฟดมีท่าทีคุมเข้มทางการเงินมากขึ้น
· เมื่อวานนี้ข้อมูลการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่ข้อมูลเงินเฟ้อขยายตัวได้ปานกลาง สำหรับข้อมูลอื่นๆ สะท้อนถึง กลุ่มผู้ว่าจ้างได้รับอานิสงส์จากกลุ่มแรงงานในไตรมาสที่ 2 แต่ข้อมูลการขยายตัวของค่าแรงยังคงชะลอตัว
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ยังมีแนวโน้มจะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งปีนี้ อาจยังหนุนให้เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อ
· รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า แหล่งข่าววงในจากทั้ง 2 ประเทศเผยว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯกำลังพยายามที่จะเริ่มต้นเจรจากันอีกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยง Trade War ระหว่างกัน โดยที่ตัวแทนทางการค้าอย่าง นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน มีการพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะหาทางกลับมาเจรจาร่วมกัน
ทั้งนี้ ข่าวดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวขึ้นจากโอกาสที่ปัญหาความตึงเครียดทางการค้าจะผ่อนคลายลงไป จึงช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอย่าง บริษัทโบอิงค์, แคทเธอพิลลาร์ และ 3M ปรับขึ้นได้กว่า 1%
อย่างไรก็ดี ค่าเงินหยวนยังคงผันผวน จากข่าวที่ว่า ในวันนี้ทีมบริหารของนายทรัมป์จะทำการปรับเพิ่มแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนอีก 25% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญ จึงทำให้การหยวนปรับอ่อนค่าขึ้น 0.35%ที่ระดับ 6.8271 หยวน/ดอลลาร์ จากรายงานที่สหรัฐฯจะมีแผนภาษีฉบับใหม่ ที่อาจคุกคามและทวีความตึงเครียดทางการค้ากับจีน
· รายงานจากสำนักข่าวซินหัวของจีน ระบุว่า จีนจะยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและจะบรรลุเป้าหมายที่กำหนดในปีนี้ได้ โดยมองว่าไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างช้าๆมาที่ระดับ 6.7% ขณะที่ภพรวมปีนี้เชื่อขยายตัวได้ 6.5% แม้ว่าภาวะตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯจะเป็นอุปสรรคต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศให้ชะลอตัว และลดการขนส่งสินค้าออกนอกประเทศที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อทิศทางเศรษฐกิจจีนได้
· รายงานจากเฟดสาขาแอตแลนต้า เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวได้ 4.7% ในไตรมาสที่ 3นี้ หลังจากที่ข้อมูลประมาณการณ์ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ 4.1%
· เมื่อวานนี้ บีโอเจ ประกาศปรับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี พร้อมปรับลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้า 2% ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ และเตรียมที่จะปรับนโยบายการเข้าซื้อกองทุนเปิดที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) และจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อหุ้นกู้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก
พร้อมกันนี้ บีโอเจจะหาทางคงระดับผลตอบแทนพันธบัตรกำหนดชำระคืน 10 ปี ไว้ที่ 0% แต่ ผลตอบแทนดังกล่าวอาจมีการปรับตัวสูงขึ้นและลดลงได้ในบางช่วง ซึ่งธนาคารจะดำเนินการเข้าซื้อคืนแบบยืดหยุ่น นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มหรือลดปริมาณการเข้าซื้อ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ในตลาด ซึ่งการตัดสินใจที่ออกมานี้ ถือเป็นการปรับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2016
นอกจากนี้ บีโอเจยังคงรักษาเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ 2.0% แต่ยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุเป้าที่ตั้งไว้ได้ โดยได้มีการลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อลงไปจนถึงปีงบประมาณ 2520
· รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BoE คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ และพร้อมที่จะหาแนวทางการหารือเกี่ยวกับกรณี Brexit หรือภาวะตึงเครียดทางการค้ากับทางสหรัฐฯ ขณะที่ NIESR คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวได้ 1.4% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้า
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงขณะที่ภาพรวมรายเดือนปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังจากที่ผลผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดของปีในดือนก.ค. จึงบดบังข่าวที่ว่าอาจเห็นจีนและสหรัฐฯกลับมาเจรจาการค้ากันอีกรอบที่อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.34 เหรียญ ที่ระดับ 74.21 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 1.37 เหรียญ คิดเป็น -2% ที่ระดับ 68.76 เหรียญ/บาร์เรล โดยภาพรวมเดือนที่แล้วน้ำมันดิบ Brent ปิดร่วงลงไปกว่า 6% ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปรับลง 7% ซึ่งเป็นอัตราเปอร์เซ็นต์การปรับตัวลงมากที่สุดของน้ำมันดิบทั้ง 2 ชนิด นับตั้งแต่ก.ค. ปี 2016