• ค่าเงินยูโรทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 1 ปีเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินสวิสฟรังก์ โดยยังคงถูกกดดันจากค่าเงินลีราของตุรกีที่ร่วงลงจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจตุรกีที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธนาคารยุโรปและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต่างๆ
นักลงทุนมีความกังวลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินลีราที่อาจส่งผลให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันมียอดขาดดุลอย่างมากและจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ
ค่าเงินยูโรทรงตัวบริเวณ 1.1410 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ร่วงลงไปทำระดับต่ำสุดรอบ 13 เดือนบริเวณ 1.1365 ดอลลาร์/ยูโรเมื่อวานนี้ และส่งผลให้ภาพรวมเดือนนี้ยูโรอ่อนค่ามาแล้ว 2.4%
ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงอีก 0.6% ในช่วงต้นตลาดเอเชีย สู่ระดับ 6.955 ดอลลาร์/ลีรา หลังจากที่ไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์บริเวณ 7.24 ดอลลาร์/ลีราเมื่อวานนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีจะหาวิธีมาเสริมสภาพคล่องในตลาด โดยปัจจุบันค่าเงินลีราทรงตัวที่ 6.9349 ดอลลาร์/ลีรา
ทั้งนี้ ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงไปเกือบ 30% ในเดือนนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ประธานาธิบดีตุรกีฝืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการทูตกับสหรัฐฯ
• ค่าเงินหยวนถูกจำกัดจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงทำให้ค่าเงินหยวนยังทรงตัวในทิศทางอ่อนค่ารอบ 15 เดือนบริเวณ 6.8965 ดอลลาร์/หยวน ซึ่งเป็นระดับช่วงต้นเดือน
จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการชะลอตัว ท่ามกลางสหรัฐฯที่ใช้นโยบายเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า ขณะที่ภาคการลงทุนในช่วง 7 เดือนแรกของปีกำลังมีสัญญาณชะลอตัวแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ยอดค้าปลีกอ่อนตัวลง
ค่าเงินเยนปรับอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยมาที่ 0.5% บริเวณ 110.79 เยน/ดอลลาร์ หลังลงไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 110.1 เยน/ดอลลาร์วานนี้
• การร่วงลงของค่าเงินลีราได้ฉุดให้ค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ตกลงไป 1.5% หลังจากที่ร่วงลงไปในช่วงต้นตลาดกว่า 10% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ค่าเงินรูปีของอินเดียทรุดตัวลงทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมไปถึงค่าเงินเปโซของเม็กซิโกที่ปรับอ่อนค่าไปกว่า 1%
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 2.877% หลังจากไปทำระดับต่ำสุดรอบ 3 สัปดาห์บริเวณ 2.848% ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นจากวิกฤตค่าเงินลีรา โดยอยู่ที่ระดับ 96.177 จุด หลังจากที่เมื่อวานนี้ไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 13 เดือนบริเวณ 96.522 จุด
• เศรษฐกิจเยอรมนีกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 2/2018 ท่ามกลางแรงหนุนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่มากขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวได้แม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางการค้า
ทั้งนี้ GDP เยอรมนีรายไตรมาสต่อไตรมาสขยายตัวได้ 0.5% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.4%
• นายจูเซปเป้ คอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี และคณะรัฐมนตรี ได้หารือกันเกี่ยวกับแผนงบประมาณสำหรับปี 2019 และได้เห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องหาวิธีลดระดับหนี้สินภาคครัวเรือนเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจเอาไว้
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นอิตาลีและพันธบัตรรัฐบาลในช่วงไม่กี่วันมานี้ ได้ถูกกดดันลงมาจากวิกฤติทางการเงินในตุรกี ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อแผนงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี
• นักวิเคราะห์จาก Northern Trust กล่าวเกี่ยวกับวิกฤติการเงินในตุรกีที่เกิดขึ้นว่า “เพราะเหตุใด ตลาดหุ้นตุรกีที่มีมูลค่ารวมต่ำกว่าหุ้น Netflix เพียงหุ้นเดียว ถึงสร้างความแตกตื่นให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ถึงขนาดนี้ นั่นเป็นเพราะว่าบรรดาประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ต่างพึ่งพ่ปัจจัยจากภายนอกกันเสียส่วนมาก ดังนั้นวิกฤติของตุรกีจึงอาจแพร่ขยายผลกระทบต่อมายังบรรดาตลาดเหล่านี้”
• เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณที่จะชะลอตัวลงอีกครั้ง ระหว่างที่สหรัฐฯที่กำลังมีแผนปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนที่จะหนักหน่วงกว่าเดิม ขณะที่อัตราการเติบโตของการลงทุนในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และบรรดาผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed-asset investment) ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ค. ขยายตัวได้ 5.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ท่ามกลางมาตรการควบคุมการกู้ยืมที่เข้มงวดของรัฐบาลซึ่งเป็นหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะที่อัตราการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (Industrial output) ขยายตัวได้ด้วยอัตราที่คาดการณ์ไว้ ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการควบคุมภาวะมลพิษของรัฐบาล ประกอบกับกระแสคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมมลพิษที่มากกว่าเดิม
• รัฐบาลจีนกล่าวตำหนิร่างนโยบายกีดกันทางการค้าฉบับใหม่ของสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นการมองจีนในแง่ลบมากเกินไป พร้อมยืนยันว่าจีนจะดำเนินการเรียกร้องให้สหรัฐฯพิจารณาแก้ไขนโยบายควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศอีกครั้ง
• ราคาน้ำมันปรับตัวศูงขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียยืนยันว่าพวกเขาได้ปรับลดกำลังการผลิตลง 2 แสนบาร์เรล/วัน เหลือ 10.29 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน ก.ค. แต่ความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นไปได้มากกว่านี้
โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับขึ้น 60 เซ็นต์ บริเวณ 73.21 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้น 60 เซ็นต์ บริเวณ 67.80 เหรียญ/บาร์เรล
· นักวิเคราะห์จาก DailyFX วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวในกรอบแนวรับและแนวต้าน โดยหากราคาปิดเหนือ 68.41 เหรียญ/บาร์เรล ก็มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันดีดกลับไปทดสอบ 69.89 – 70.41 เหรียญ/บาร์เรล ได้อีกครั้ง แต่หลากหลุดลงมาจากแถว 65.74 เหรียญ/บาร์เรล จะมีเป้าหมายถัดไปแถว 64.26 - 63.96 เหรียญ/บาร์เรล