• ค่าเงินดอลลาร์ปิดทรงตัวเล็กน้อยหลังจากที่ขึ้นไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 13 เดือน ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่เพิ่มการถเข้าถือครองดอลลาร์ในฐานะ Safe-Haven หลังข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง และปัญหาในตุรกี
ขณะที่ยอดค้าปลีกสหรัฐฯและข้อมูลการผลิตรวมทั้งประสิทธิผลการทำงาน ได้หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์และมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับอ่อนค่าลงมาบ้างในช่วงที่ค่าเงินยูโรมีการดีดกลับ จากข่าวที่ว่า กาตาร์ ให้คำมั่นที่จะยังลงทุนในตุรกีด้วยวงเงิน 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวดูจะเป็นการให้การสนับสนุนระบบภาคธนาคารของตุรกี และลดความกังวลที่จะเกิดผลกระทบกับภาคธนาคารยุโรปในตุรกี และทำให้ค่าเงินยูโรรีบาวน์กลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดรอบ 13 เดือนเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวแถว 96.71 จุด หลังจากที่ขึ้นไปทำระดับแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่มิ.ย. ปี 2017 ที่ระดับ 96.984 จุด
ค่าเงินยูโรแตะระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 13 เดือนที่ระดับ 1.13010 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนจะปรับแข็งค่าขึ้นมาที่ 1.1343 ดอลลาร์/ยูโร
• ค่าเงินปอนด์อังกฤษปรับอ่อนค่าทำระดับต่ำสุดรอบ 13 เดือนครึ่งเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษเดือนก.ค.จะปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยค่าเงินปอนด์อ่อนค่าไป 0.2% แถว 1.2696 ดอลลาร์/ปอนด์
• ค่าเงินหยวนปรับอ่อนค่าลง 0.8% ที่ระดับ 6.9512 หยวน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ม.ค. 2017 โดยการอ่อนค่าล่าสุดของเงินหยวนมาจากข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่ออกมาหน้าผิดหวัง ประกอบกับกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับว่าธนาคารกลางจีนอาจจะออกมาตรการแทรกแซง หรืออาจใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยยับยั้งการอ่อนค่าอย่างหนักของเงินหยวน
• ค่าเงินลีราปรับแข็งค่าประมาณ 12% มาแตะ 6.04 ลีรา/ดอลลาร์ หลังไปทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดบริเวณ 7.24 ลีรา/ดอลลาร์ โดยภาพรวมปีนี้อ่อนค่าไปแล้วกว่า 40%
ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ปรับอ่อนค่าลงอีกครั้ง โดยค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ปรับอ่อนค่าไปกว่า 2% ขณะที่ค่าเงินรูปีของอินเดียยังคงทำ All-Time Low
• รายงานเศรษฐกิจหรือจีดีพีของเฟดสาขาแอตแลนต้า เผยคาดการณ์โมเดลการขยายตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโตได้ 4.3% โดยเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งที่แล้วที่มองว่าจะขยายตัวได้ 3.1%
• ข้อมูลยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค. ท่ามกลางภาคครัวเรือนที่มีกำลังซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าและจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงบ่งชี้ถึงภาวะความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผย ข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯขยายตัวได้ 0.5% ขณะที่ข้อมูลเดือนก่อนหน้าปรับลง 0.2% ขณะที่ยอดค้าปลีกที่ไม่รวมอาหารและกลุ่มยานยนต์ออกมาดีขึ้น 0.6%จากเดิมที่ถูกปรับทบทวนลงมาที่ 0.1%
• บรรดาวุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐฯจะทำการเจรจาและลงมติภายในไม่กี่วันนี้ เกี่ยวกับร่างงบประมาณที่มีมูลค่ากว่า 8.50 แสนล้านเหรียญสำหรับใช้จ่ายด้านการกลาโหม แรงงาน และการประกันสุขภาพ ขณะที่ทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างงบประมาณในบางส่วน
ทั้งนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยข่มขู่จะทำการ Shut down รัฐบาล หากสภาคองเกรสไม่ยินยอมที่จะให้ความสำคัญกับงบประมาณในส่วนที่เขาต้องการ โดยเฉพาะงบประมาณสำหรับการก่อสร้างกำแพงชายแดนระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโก
• รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งเม็กซิโกเปิดเผยว่า การเจรจาภายใต้สนธิสัญญา NAFTA ระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ภายในเดือน ส.ค. นี้ โดยยังคงมีความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายการค้ารถยนต์ และปัญหาอื่นๆ
• ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 2 เหรียญเมื่อวานนี้ หลังจากที่สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับตัวขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ประกอบกับความกังวลที่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยน้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.96 เหรียญ ที่ระดับ 70.50 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ WTI ปิดลง 2.22 เหรียญ ที่ระดับ 64.82 เหรียญ/บาร์เรล
• กระทรวง EIA เผย สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นเกินคาดแตะ 6.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่การกลั่นน้ำมันปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์