ในที่สุดเฟดอาจพบสัญญาณการขยายตัวของเงินเฟ้อที่เฟดตามหามานานเสียที และอาจเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปตามคาดการณ์สำหรับปีนี้อีก 2 ครั้ง และ 2-3 ครั้งสำหรับปี 2019
ตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่เฟดมักใช้พิจารณาเป็นอันดับแรกๆก็คือ ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคพื้นฐาน (Core PCE price index) ซึ่งยังเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัว ไม่สามารถแตะระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% ได้เสียที โดยก่อนหน้านี้ ดัชนีสามารถแตะระดับดังกล่าวได้เพียง 2 ครั้ง นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2012 เท่านั้น ซึ่งครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ดัชนี Core PCE ที่จะถูกประกาศตัวเลขในคืนนี้ ถูกคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.2% ในเดือน ก.ค. หรือขยายตัวได้ 2% ในภาพรวมรายปี
Michelle Girard หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ประจำ NatWest Markets คาดการณ์ว่า ดัชนี Core PCE จะสามารถคงอยู่ที่ระดับ 2% ได้ในเดือน ส.ค. และจะขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 2.1% ในเดือน ก.ย. จึงอาจส่งผลให้ภาพรวมดัชนีเคลื่อนไหวแถวระดับ 2%ได้ตลอดปี 2018 ดังนั้น เฟดอาจสามารถคงแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ เฟดถูกคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. และ ธ.ค. ที่จะถึงนี้เป็นที่ค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ตลาดยังคงถกเถียงกันว่าเฟดจะมีแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2019 อย่างไร แม้เฟดจะคาดการณ์เองไว้ 3 ครั้งก็ตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงชะลอตัวยังเป็นปัจจัยกดดันให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ายังคงไร้ความชัดเจน ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเฟดมีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในบางจังหวะเสียด้วยซ้ำ
ส่วน Michelle Girard มองว่า เฟดไม่น่าจะคงจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยปี 2019 ไว้ที่ 3 ครั้งตามที่เฟดคาดเอาไว้ โดยเธอมองไว้ที่ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้ระดับ Neutral rate หรือระดับที่จะไม่สามารถหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ เธอยังได้กล่าวอีกว่า อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้กล่าวว่า เฟดจะคงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปดังเดิม ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ไม่น่าขยายตัวเร็วเกินการควบคุม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เฟดจะต้องเร่งจังหวะของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ที่มา: CNBC