การใช้จ่ายของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียที่มีแรงขับเคลื่อนหลักจากประเทศจีน ถือเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงเกิดคำถามว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชียจะได้รับผลกระทบจนชะลอการเติบโตลงหรือไม่
ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ส่วนมากต่างให้คำตอบว่า จะไม่ส่งผลกระทบเท่าไหร่นัก แต่อาจจะทำให้การเติบโตสะดุดลงบ้างเล็กน้อยในบางกรณี
Paul M. Kitney นักวิเคราะห์จาก Daiwa Capital Markets ระบุว่า ภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชีย ที่คิดเป็น 60% ของจำนวนประชากรทั่วโลก ถือว่ายังมีความสดใสไปได้อีกจนถึง 10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและรายได้ส่วนบุคคลที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น ในมุมมองของ Daiwa Capital Markets การกีดกันทางการค้าและความคล่องตัวของตลาดที่มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต จะไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
Karine Hirn หุ้นส่วนของ East Capital ก็ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า ตลาดเอเชียยังคงมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาอยู่สูงมาก เมื่อพิจารณาจากอำนาจในการใช้จ่ายของประชาชนที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชียก็มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัว หรือถ้าได้รับผลกระทบก็จะมีความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Daiwa ก็ได้เตือนว่า หากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (Global supply chains) ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า เศรษฐกิจเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานอาจได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากได้
ซึ่งหากเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย สิ่งที่ตามมาก็คือรายได้ส่วนบุคคลและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายที่ลดลงตามมา
นอกจากนี้ Daiwa ยังได้ประเมินไว้อีกว่า ภาพรวมนโยบายทางการเงินของเศรษฐกิจเอเชียยังคงดูผ่อนคลาย แม้ว่าทางเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงอาจช่วยสนับสนุนให้ภาครัฐของแต่ละประเทศในเอเชียสามารถออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในกรณีที่เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจขึ้นจริง