• ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าเมื่อคืนวันศุกร์ ท่ามกลางแรงหนุนจากแรงเข้าซื้อในฐานะ Safe-haven และความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงที่ชะลอตัวลง หลังราคาน้ำมันปรับร่วงลงมาอย่างหนัก ประกอบกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยดัชนีดอลลารืปรับแข็งค่าขึ้น 0.3% ที่บริเวณ 96.959 จุดในช่วงคืนวันศุกร์ ขณะที่ในช่วงเช้าวันนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวบริเวณ 96.93 จุด
นักวิเคราะห์ FX จาก Rabobank ประเมินว่า ค่าเงินดอลลาร์ในระยะสั้นดูจะมีแรงกดดันมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ประกาศออกมาค่อนข้างอ่อนแอในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่าเฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังมองว่าค่าเงินดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนที่แข็งแกร่ง จากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของบรรดาตลาดเกิดใหม่
ค่าเงินยูโรเมื่อคืนวันศุกร์ปรับอ่อนค่าลง 0.7% บริเวณ 1.1329 ดอลลาร์/ยูโร ท่ามกลางแรงกดดันจากสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยดัชนี PMI ของเยอรมนีประกาศออกมาลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับการเจรจา Brexit และแผนงบประมาณของอิตาลี
ด้านค่าเงินเยนแข็งค่า 0.1% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่บริเวณ 112.86 เยน/ดอลลาร์ ท่ามกลางแรงเข้าซื้อในฐานะ Safe-haven หลังราคาน้ำมันปรับร่วงลงอย่างหนัก
• บรรดาผู้นำประเทศในอียูทั้ง 27 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ร่วมกันได้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยนายฌอง คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการแห่งอียู ระบุว่าเป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐสภาอังกฤษอย่าปฏิเสธข้อตกลงตัวนี้
ขณะที่ทางนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะพยายามโน้มน้าวให้บรรดาส.ส. ในรัฐสภาของเธอ ให้การสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว ภายในวันจันทร์นี้ โดยเตือนว่าหากปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้อังกฤษต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ แม้นางเมย์จะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับบรรดาผู้นำประเทศในอียูได้สำเร็จ แต่เธอยังประสบเสียงคัดค้านจากภายในรัฐสภาของเธอเอง ซึ่งแนวโน้มที่เธอจะสามารถเรียกเสียงสนับสนุนได้เพียงพอจากภายในประเทศของเธอดูจะยังไม่ค่อยสดใสเสียเท่าไหร่
ขณะที่ทางด้านอียูได้ระบุว่าพวกเขายังไม่มีการเตรียมแผนรับมือกับกรณีที่อังกฤษปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด โดยจะมีแต่เพียงแผนรับมือกับกรณีที่อังกฤษออกจากอียูแบบ No-deal เท่านั้น โดยการลงมติข้อตกลงในรัฐสภาอังกฤษถูกคาดว่าจะเกิดขึ้นระหว่งาวันที่ 13-14 ธ.ค. ก่อนหน้าการประชุมของอียู
• นายฌอง คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการแห่งอียู และนายจูเซปเป้ คอนติ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขแผนงบประมาณปี 2019 ของอิตาลีภายในไม่กี่วันนี้ เพื่อแผนงบประมาณดังกล่าวสามารถเป็นที่ยอมรับได้กับทั้ง 2 ฝ่าย
• นักเศรษฐศาสตร์จาก Renmin University ในกรุงปักกิ่ง คาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะอยู่ระดับ 6.6% และจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.3% ในปี 2019 ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาทางการค้ากับต่างประเทศและการปฏิรูปโครงสร้างการค้าภายในประเทศ
โดยรายดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของ Reuters เมื่อเดือนก่อน ที่คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ
• ราคาน้ำมันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะ Oversupply ส่งผลให้ทิศทางขาลงของราคาน้ำมันที่ยาวนานกว่า 7 สัปดาห์ยังคงดำเนินต่อไป
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิด -7.7% หรือ -4.21 เหรียญ/บาร์เรล ที่ระดับ 50.42 เหรียญ สำหรับในช่วงตลาดเอเชียเช้านี้ ราคาขยับขึ้นมาได้ 0.06% บริเวณ 50.45 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปิด -5.9% หรือ -3.66 เหรียญ/บาร์เรล ที่ระดับ 58.94 เหรียญ และในช่วงเช้านี้ ราคารีบาวน์ขึ้นมา 0.54% บริเวณ 59.12 เหรียญ/บาร์เรล