· ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้น 617.7 จุด คิดเป็น +2.5% ที่ระดับ 25,366.43 จุด ซึ่งถือเป็นระดับการปรับตัวขึ้นมากที่สุดรายวันนับตั้งแต่ 26 มี.ค. ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดปรับขึ้น 2.3% ที่ระดับ 2,743.82 จุด จากมุมมองที่เหล่าเทรดเดอร์มองว่าเฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าลดน้อยลงไป ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิด +2.95% ที่ระดับ 7,291.59 จุด ซึ่งถือเป็นระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ 25 ต.ค. ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีหุ้นสหรัฐฯเดือนพ.ย. กลับมาเคลื่อนไหวแดนบวกอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับขึ้นหลังจากที่ประธานเฟด กล่าวถึง ระดับดอกเบี้ยใกล้เป้าหมายมาตรฐาน โดยเปลี่ยนท่าทีจากการประชุมในเดือนก.ย.
· ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ก่อนหน้าการพบกันระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯและนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในการประชุม G-20 วันนี้ ท่ามกลางความหวังที่ว่าจะช่วยลดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงคามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
เช้านี้ ดัชนี Nikkei ปรับตัวสูงขึ้น 0.93% ขณะที่ดัชนี Topix เพิ่มขึ้น 0.86% และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 1.27%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อคืนที่ผ่านมา โดยดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นกว่า 600 จุด
· นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85 - 33.08 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดยังจับตาการหารือนอกรอบระหว่าง 2 ผู้นำ คือสหรัฐฯ และจีนในช่วงการประชุม G20 ปลายสัปดาห์นี้
· รายงานการประชุม กนง. เมื่อวันที่14 พ.ย.61 แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังจำเป็นต่อการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งภาคท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง และต้องติดตามความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
· สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค. 61 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวสูงสุดในรอบ 70 เดือน และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวสูงสุด 65 เดือน
ขณะที่การส่งออกกลับมาขยายตัว โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหดตัวเล็กน้อย
· สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เตรียมปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2561 อีกครั้งในเดือน ม.ค.62 จากทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายขยายตัวไว้ 4.5% โดยจะรอพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากหลายตัวแปรยังไม่นิ่ง เช่น ตัวเลขส่งออกที่ต้องรอความชัดเจนในเดือน พ.ย.นี้, ผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว