• ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ ท่ามกลางนักลงทุนที่เริ่มพากันปิดสถานะ Long ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่อาจเห็นเฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้
ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงมาที่ 97.01 จุด หลังร่วงลงไปทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ 10 ธ.ค.
และการอ่อนค่าของดอลลาร์ได้ทำให้ยูโรยังคงแข็งค่าขึ้นได้อีก 0.16% ที่ระดับ 1.1364 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ปรับอ่อนค่าลงไปในช่วงก่อนหน้าจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงติดต่อกัน 2 วันทำการ จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและตลาดการเงิน แม้ว่าจะมีคาดการณ์เป็นวงกว้างว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในคืนนี้ ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงกล่าวตำหนิการดำเนินงานของเฟดและไม่ช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่า
• เมื่อคืนนี้นายทรัมป์ ทวิตเตอร์ข้อความที่ว่า การดำเนินการของเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ ในจังหวะที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลก
• หัวหน้านักกลยุทธ์ค่าเงินจาก Scotiabank กล่าวว่า เฟดอาจสร้างความแปลกใจในเรื่องการดำเนินนโยบายและอาจกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงมาได้ ท่ามกลางความผันผวนในตลาดหุ้นที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกเฟด และทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดดูลดน้อยลง โดยขณะนี้มีโอกาสเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 70% ลดลงจากโอกาสเมื่อวันจันทร์ที่ 78% ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกครั้งในคืนนี้
• Bank of America Merrill Lynch เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนในตลาดค่าเงินอ่อนตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใสไปทั่วทั้งโลก
• CNBC เผยว่า เฟดถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในวันนี้ และน่าจะส่งสัญญาณยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยได้มากเท่ากับคาดการณ์ก่อนหน้า ท่ามกลางกลุ่มนักกลยุทธ์บางส่วนที่เชื่อว่าความผันผวนที่ลดลงในตลาดการเงินจะเป็นสิ่งที่เฟดนำมาอธิบายถึงแนวทางที่ว่าทำไมจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หรือไม่ทำให้กังวลมากเกินไปว่าจะกระทบต่อเงื่อนไขทางการเงิน
ดังนั้น เราจึงจะเห็นเฟดขึ้นดอกเบี้ยมาสู่กรอบ 2.25 – 2.50% ขณะที่ช่วงหลังเสร็จสิ้นการประชุมเฟดน่าจะยังส่งสัญญาณถึงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแต่เดิมเฟดมองว่าปีหน้าจะขึ้นดอกเบี้ยได้จำนวน 3 ครั้ง แต่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ก็เชื่อว่าเฟดน่าจะเปลี่ยนท่าทีและลดจำนวนครั้งลงมาเหลือเพียง 2 ครั้งในปีหน้า และอีก 1 ครั้งในปี 2020
ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอนาคตอาจมีผลสะท้อนมาจากความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน และตลาดูจะกำลังตอบรับกับความกังวลเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยในสภาวะที่กังวลต่อ Trade War และการอ่อนตัวของข้อมูลเศรษฐกิจโลกควบคู่กันไป ที่อาจทำให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับภาวะถดถอย ขณะที่การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของประธานเฟดส่งผลให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯดูจะไม่พึงพอใจเท่าใดนัก
นอกจากนี้ เฟดยังถูกคาดว่าจะทำการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย 2% โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เฟดมองไว้ในช่วงก.ย. ที่ 2.5% ในวาระนี้เฟดน่าจะปรับลดมุมมองลงมาเหลือเพียง 2.3%
• Goldman Sachs คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในอีกไม่กี่เดือนนี้ และนั่นจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจทั่วภูมิภาค รวมทั้งค่าเงินด้วย หลังจากที่ภาพรวมปีนี้อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาเกือบ 5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่
• นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ซึ่งเหมือนเป็นการกล่าวคำเตือนเป็นนัยถึงสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนไม่ยอมให้ใคร "สั่งการ" เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในการกล่าวถ้อยแถลงประธานาธิบดีจีน ย้ำถึงการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจต่อไป แต่ก็ยืนยันว่าจีนจะไม่เบี่ยงเบนออกจากระบบการเมืองแบบพรรคเดียว หรือยอมรับคำสั่งจากประเทศอื่นใด แม้จะไม่ได้เป็นการเอ่ยถึงสหรัฐฯโดยตรง แต่ผู้นำจีนมีการกล่าวย้ำว่า จีนไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่น แต่ก็ไม่ยอมถูกควบคุมด้วยเช่นกัน
• บรรดาผู้นำเข้าถั่วเหลืองในประเทศจีนเริ่มกลับเข้าซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ที่ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงสงบศึกทางการค้าร่วมกันเป็นผลสำเร็จ ซึ่งการเข้าซื้อถั่วเหลืองครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าทางประเทศจีนกำลังดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับสหรัฐฯ ว่าจะทำการเข้าซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าจีนมีการเข้าซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯเป็นปริมาณรวมทั้งหมดเท่าไหร่ แต่มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีบรรดารัฐวิสาหกิจจากประเทศจีนดำเนินการจองซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯเป็นปริมาณ 1.5 ล้านตัน ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ซึ่งเป็นรายงานการเข้าซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯครั้งแรกในรอบ 6 เดือน
• โฆษกกระทรวงเศรษฐกิจแห่งอิตาลี กล่าวว่า รัฐบาลอิตาลีสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันอียูเกี่ยวกับแผนงบประมาณปี 2019 ที่เป็นประเด็นขัดแย้งกันก่อนหน้านี้ได้ในที่สุด ขณะที่การจัดทำข้อตกลงจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการภายในวันนี้
• โฆษกประจำทำเนียบขาวแห่งสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลกำลังหาหนทางที่จะสามารถตอบสนองกับข้อเรียกร้องของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก จึงเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลอาจหลีกเลี่ยงภาวะ Shutdown ที่อาจเกิดขึ้นภายในคืนวันศุกร์นี้ได้
ทั้งนี้ นายทรัมป์ได้เรียกร้องงบประมาณเป็นเงินทุนจำนวน 5 พันล้านเหรียญสำหรับการก่อสร้างกำแพงชายแดนจากสภาคองเกรส โดยระบุว่ามีความจำเป็นสำหรับการหยุดยั้งการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศอย่างผิดกฏหมาย
ขณะที่เมื่อวานนี้ นายทรัมป์ได้ระบุว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าภาครัฐจะเผชิญกับภาวะ Shutdown ในบางส่วนหรือไม่ ก่อนที่แผนงบประมาณฉบับเดิมจะหมดอายุลงภายในคืนวันศุกร์ที่จะถึงนี้
• บรรดาตัวแทนภาคธนาคารในรัฐสภาอังกฤษ ได้กล่าวเตือนว่า ภาคธนาคารอังกฤษอาจดำเนินการโยกย้ายธุรกิจออกนอกประเทศมากขึ้น หากระดับการเรียกเก็บภาษีจากภาคธนาคารยังถูกคงไว้ในระดับเดิมหลังจาก Brexit
ทั้งนี้ มีรายงานว่าบรรดาธนาคารในกรุงลอนดอนเริ่มมีแผนที่จะโยกย้ายพนักงานออกสู่ต่างประเทศก่อนหน้า Brexit มากขึ้น เนื่องจากหากอังกฤษถอนตัวออกจากอียู การดำเนินธุรกรรมใดๆจากอังกฤษร่วมกับประเทศในยูโรโซนจะเป็นไปอย่างยากลำบาก
• ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงมาประมาณ 7% ทำระดับต่ำสุดในรอบกว่า 15 เดือน หลังจากที่ยอดการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯและรัสเซียยังคงปรับตัวขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่นักวิเคราะห์มีการกล่าวเตือนกันถึงสัญญาณการอ่อนตัวของภาวะอุปสงค์น้ำมัน
น้ำมันดิบ WTI ปิดลง 3.64 เหรียญ คิดเป็น -7.3% ที่ระดับ 46.24 เหรียญ/บาร์เรล และถือเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่ 30 ส.ค. ปี 2017 ขณะที่ภาพรวมระหว่างวันร่วงลงไป 8%ทำระดับต่ำสุดที่ 45.79 เหรียญ/บาร์เรล
น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 3.35 เหรียญ คิดเป็น -5.6% ที่ระดับ 56.24 เหรียญ/บาร์เรล โดยเป็นระดับปิดต่ำสุดรอบ 14 เดือน และไปทำระดับต่ำสุดบริเวณ 55.89 เหรียญ/บาร์เรลหลังจากที่ตลาดปิดไป