Mark Jolley นักกลยุทธ์จาก CCB International Securities ประเมินว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อตลาดหุ้นยังคงมีอยู่ กล่าวคือเฟด ที่ยังคงมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีหน้า แม้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนก้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง
โดยนักวิเคราะห์ได้กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะมองสถานการณ์ไปในเชิงบวก เนื่องจากมีปัจจัยด้านลบมากมายเหลือเกิน และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดน่าจะมาถึงภายในปีหน้า โดยเรายังอยู่เพียงแค่ช่วงครึ่งแรกของตลาดขาลงเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะตามมาภายในปีหน้า
เฟดจะเดินหน้าคุมเข้มต่อ
สำหรับ Mark Jolley ปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อตลาดเครดิตมากที่สุด คือการที่เฟดคงคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีหน้าไว้ที่ 2 ครั้ง ซึ่งภาคบริษัทอาจประสบความยากลำบากในการชำระหนี้ และอาจทำให้บริษัทเหล่านั้นมีผลประกอบการที่น้อยลงหรืออาจถูกดาวน์เกรดลงมา ซึ่งหากภาคบริษัทอ่อนแอ โดยเฉพาะกับบริษัทรายใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีด้วยแล้ว ความอ่อนแอนั่นก็จะหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้น
นอกจากนี้ Vishnu Varathan หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์จาก Mizuho Bank ยังมองว่า มุมมองเชิงบวกที่มีต่อจะยิ่งลดน้อยลงไปในปีหน้า เนื่องจากการคุมเข้มทางการเงินของเฟด หมายถึงจะมีปริมาณเงินสำหรับลงทุนที่ลดลง และโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าช้อนซื้อหุ้นก็จะยิ่งต่ำลงไปอีก เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าหุ้นจะสามารถฟื้นตัวได้
ความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ-จีน
Vasu Menon รองประธาน OCBC Bank กล่าวว่า ถึงแม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เกิดขึ้นจากการตอบโต้กันด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า จะได้รับการเจรจาและสงบศึกลงเป็นการชั่วคราวจนถึงเดือน มี.ค. ปี 2019 แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นยังไม่มีผู้ใดสามารถคาดเดาได้
ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกได้อย่างรุนแรง โดยจะเห็นตัวอย่างได้จาก กองทุน IMF ที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมองว่าการดำเนินการทางเศรษฐกิจใดๆจะถูกกดดันลงมาจากความขัดแย้ง
นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนดังกล่าวจะกดดันความเชื่อมั่นของตลาดไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จนกว่าจะมีความชัดเจนใดๆเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้า หลังข้อตกลงสงบศึกเป็นเวลา 90 วัน จะหมดอายุลงในเดือน มี.ค.
ที่มา: CNBC