• ดัชนีดาวโจนส์เมื่อคืนนี้ปิดปรับขึ้น 18.78 จุด ที่ 23,346.24 จุด หลังช่วงต้นตลาดร่วงลงไปเกือบ 400 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด +0.1% ที่ 2,510.03 จุด และ Nasdaqปิด +0.46% ที่ 6,665.94 จุด โดยดัชนี S&P500 และ Nasdaq ต่างลงไปทำระดับต่ำสุดรายวันกว่า 1% และยังคงผันผวนต่อเนื่องจากเดือนธ.ค. หลังจากที่ในเดือนดังกล่าวดัชนี S&P500 ถือว่าทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวครั้งใหญ่ และฉุดให้ภาพรวมรายปีแย่มากที่สุดนับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2008
ตลาดหุ้นสหรัฐฯแม้จะปิดบวกได้แต่ภาพรวมก็ยังคงมีความผันผวนขาลงในปีนี้อยู่ ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายมองว่า แม้ช่วงต้นปีเราจะเห็นราคาขยับขึ้นได้แต่ก็มาจากภาวะ Buy-the-dip แต่ตลาดก็ยังคงมีความผันผวนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก และเชื่อว่าตลาดยังคงตอบรับต่อภาวะดังกล่าวจึงน่าจะฉุดภาวะการปรับตัวขึ้นไปอีกระยะ
• ตลาดหุ้นออสเตรเลียเปิดบวกในเช้านี้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อวานนี้ ขณะที่บริษัท Apple หั่นคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี อันเนื่องมาจากข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนตัวลงในหลายประเทศ และน่าจะส่งผลให้ยอดขายไม่แข็งแกร่งเพียงพอ โดยเฉพาะยอดขายในจีนที่จะลดลง
• ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการวันนี้เนื่องในวันหยุดประจำชาติ
• นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.20 - 32.40 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อเย็นวานนี้ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากช่วงเช้า ซึ่งเป็นผลจากแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐฯภายหลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวในระหว่างวันของเงินบาทยังมีไม่มากนัก
• นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังมีกระแสข่าวการเลื่อนการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมพเดิม คือ วันที่ 24 ก.พ.62 ยังไม่เลื่อนออกไป
• กระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนธ.ค.61 ขยายตัว 0.36% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่ในลักษณะที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้ทั้งปี 2561 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.07% ซึ่งอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ที่ 0.8-1.6%
ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเฉลี่ยที่ 1.23% หรือในกรอบ 0.7-1.7% โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ราคาพลังงาน, การลงทุนภาครัฐและเอกชน, ราคาสินค้าเกษตร/สินค้าอุตสาหกรรม, การส่งออก และเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า
• กนง. มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงที่ 4.2% และ 4.0% ในปี 61 และ 62 ตามลำดับ ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับก่อน โดยแรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงตามปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี
• ธปท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนธ.ค.61 อยู่ที่ระดับ 49.5 ปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเป็นการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการในภาคการผลิตเป็นสำคัญ ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 55.2 โดยเป็นการปรับลดลงของดัชนีฯ ย่อยในเกือบทุกองค์ประกอบ