• ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินยูโร ท่ามกลางแรงเข้าซื้อในฐานะ Safe-haven หลังตลาดมีความกังวลมากขึ้นต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากกรณีที่ Apple ได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากแรงกดดันของ Trade war
นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากรายงานตัวเลขกิจกรรมภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. ที่ชะลอตัวลงอย่างมากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี รวมไปถึงการที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับลดลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของเฟดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008
ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 1.18% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่บริเวณ 107.59 เยน/ดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีดอลลาร์เช้านี้ อ่อนค่าลง 0.13% เคลื่อนไหวแถวระดับ 96.18 จุด
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 2 ปี รวมถึงพันธบัตรอายุ 3ปี และ 5 ปี ต่างปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 2.4% ในช่วงตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 ที่พันธบัตรปรับลงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ตั้งไว้ระหว่าง 2.25% - 2.5% จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า บรรดานักลงทุนเริ่มมีมุมมองว่าเฟดอาจไม่สามารถคุมเข้มทางนโยบายการเงินได้ตามที่คาดการณ์เอาไว้ในปีนี้
ขณะที่นักวิเคราะห์จาก BMO Capital Markets ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของตลาด เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าภายในระยะเวลา 24 เดือน นอกจากที่เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เฟดมีพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ
• ตลาดกำลังจับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯในคืนนี้ ที่จะประกาศในช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงถ้อยแถลงจากนายเจอโรม โพเวลล์ ประธานเฟด ที่จะมีการเสวนาร่วมกับนางเจเน็ต เยลเลน และนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดทั้ง 2 ท่าน ในช่วงเวลาประมาณ 22.15 น. ตามเวลาประเทศไทย
สำหรับการเสวนาของนายโพเวลล์ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนคาดการณ์ว่า น่าจะไม่มีการส่งสัญญาณใหม่ๆเกี่ยวกับการนโยบายการเงินในปีนี้แต่อย่างใด ขณะที่ตลาดคาดหวังว่านายโพเวลล์จะส่งสัญญาณ “ยืดหยุ่น” ในการดำเนินนโยบายการเงินและการปรับลดพอร์ตงบดุลของเฟดบ้าง หลังจากที่ถ้อยแถลงครั้งล่าสุด นายโพเวลล์ยังคงยืนยันว่าเฟดจะดำเนินนโนบายตามแบบแผนเดิมต่อไป ท่ามกลางการชะลอตัวตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดบางส่วนมองว่าเฟดอาจกำลังมีแนวทางการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด
• ขณะที่รายงานจาก Forexlive คาดการณ์ว่า นายโพเวลล์อาจส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงิน หรือสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ตลาดได้คาดการณ์โอกาสที่เฟดอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงปลายปี 2019 ไว้ที่ 40%
• รายงานจาก Reuters ระบุว่า ยอดขายที่อ่อนแอของ Apple และ Cargill ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านเทคโนโลยีและการเกษตร อาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดสำหรับตอนนี้ ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายเชิงกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มุ่งหวังจะปรับสมดุลของการค้าโลกเสียเอง รวมทั้งนโยบายดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
• พรรคเดโมแครตที่กลับมาเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในสภาล่างของสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นผลักดันร่างงบประมาณที่จะหยุดยั้งภาวะ Shutdown ของรัฐบาลทันทีหลังได้รับเสียงสนับสนุนจากนางแนนซี่ เพโลซี ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกประจำรัฐสภาคนใหม่ภายในคืนที่ผ่านมา โดยเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องงบประมาณในการก่อสร้างกำแพงเป็นมูลค้า 5 พันล้านเหรียญของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
• รายงานจาก the New York Times ระบุว่า ทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังพิจารณาให้นายจิม เว็บบ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนต่อไป
โดยหากนายเว็บบ์ได้รับตำแหน่งดังกล่าวจริง อาจช่วยให้นายทรัมป์สามารถดึงเสียงสนับสนุนจากรีพับลิกันในการออกนโยบายด้านการกลาโหมเชิงคุมเข้มได้มากขึ้น
• ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางตลาดที่ผันผวนเมื่อคืนนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณว่าซาอุดิอาระเบียกำลังดำเนินการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงจริง แต่ราคาน้ำมันยังคงเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ปริมาณอุปสงค์ในน้ำมันยังคงอ่อนแอ
ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปิด +1.04 เหรียญ หรือ +1.89% ที่ระดับ 55.95 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิด +0.55 เหรียญ หรือ +1.18% ที่ระดับ 47.09 เหรียญ/บาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีการแกว่งตัวค่อนข้างมากในช่วงตลาดเมื่อคืนนี้ โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent แกว่งตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดระหว่างวันที่ 56.30 เหรียญ/บาร์เรล และต่ำสุดที่ 53.93 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ทำจุดสูงสุดที่ 47.49 เหรียญ/บาร์เรล และต่ำสุดที่ 45.35 เหรียญ/บาร์เรล