กระทรวงแรงงานสหรัฐฯรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือน ธ.ค. ออกมาลดลง 0.1% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ขณะที่ดัชนีCPI ในเดือน พ.ย. ประกาศออกมาทรงตัว ทั้งนี้ ภาพรวมดัชนี CPI ในช่วงเวลา 12 เดือนจนถึงเดือน ธ.ค. ปรับสูงขึ้นได้ 1.9% เทียบกับ 2.2% ในเดือน พ.ย.
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่ไม่รวมอาหารและพลังงาน ในปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ธ.ค. ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ด้วยอัตราการขยายตัวเทียบเท่ากัน สำหรับภาพรวมดัชนี Core CPI ในช่วงเวลา 12 เดือนจนถึงเดือน ธ.ค. ดัชนีปรับสูงขึ้น 2.2% เท่ากับในเดือน พ.ย.
การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค. ออกมาตรงกับคาดการณ์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ในขณะที่เฟด ซึ่งมีเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ 2% มักจับตาไปยังการประกาศดัชนี PCE Price Index เพื่อแนวทางการนโยบายมากกว่า
โดยดัชนี PCE Price Index เดือน พ.ย. ปรับสูงขึ้น 1.9% ในภาพรวมรายปี หลังจากที่ขยายตัวได้ 1.8% ในเดือน ต.ค. โดยทำระดับสูงสุดที่ 2% ในเดือน มี.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2012
การปรับร่วงลงอย่างหนักของราคาน้ำมันท่ามกลางภาวะอุปทานล้นตลาดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสามารถขยายตัวได้เต็มที่ ขณะที่ราคาน้ำมันที่ถูกลงมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานถูกกดดันลงมาบางส่วน เนื่องจากราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง
ทั้งนี้ เฟดยังคงคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ที่ 2 ครั้ง แต่การขยายตัวของเงินเฟ้อในระดับปานกลางอาจช่วยสนับสนุนให้บรรดาสมาชิกเฟดรวมถึงประธานเฟดมีมุมมองไปในเชิงระมัดระวังและชะลอการปรับดอกเบี้ยภายในปีนี้มากขึ้น
· ภาวะ Shutdown ของรัฐบาลสหรัฐฯได้ดำเนินเข้าสู่วันที่ 22 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทียังคงไร้วี่แววว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในเร็วๆนี้ และได้กลายเป็นภาวะ Shutdown ที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน เมื่อปี 1995-1996 ที่ภาวะ Shutdown คงอยู่ถึง 21 วัน
ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงยืนยันจะไม่ยอมลงนามในร่างงบประมาณใดๆที่ไม่มีการรวมงบประมาณก่อสร้างกำแพงเป็นมูลค่า 5 พันล้านเหรียญให้เป็นอันขาด แม้ทางวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันคนสนิทของนายทรัมป์จะพยายามโน้มน้าวให้นายทรัมป์พิจารณาสนับสนุนร่างงบประมาณที่จะเข้ามาหยุดภาวะ Shutdown เป็นการชั่วคราวก็ตาม
· นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวเตือนว่าทางรัฐสภาไม่ให้การสนับสนุนนโยบาย Brexit ของเธอ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็จะเป็นภัยพิบัติต่ออังกฤษและอียู ก่อนหน้าการลงมตินโยบาย Brexit ในรัฐสภาวันที่ 15 ม.ค. นี้
ล่าสุดนายเมย์ได้ออกมายอมรับว่า ความเป็นไปได้ที่ทางรัฐสภาจะกีดกันนโยบาย Brexit ของเธอ มีสูงกว่าโอกาสที่อังกฤษจะออกจากอียูแบบ No-deal
· นางมารีน เลอ แปน ผู้นำพรรคฝั่งขวาจัดในรัฐบาลฝรั่งเศส เริ่มต้นโครงการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในสภาอียูที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 พ.ค. โดยพยายามเรียกเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้ชุมนุม “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ไม่พึงพอใจการดำเนินนโนบายของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยเฉพาะเรื่องราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเป็นความรุนแรงขึ้นในกรุงปารีส และยังคงยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้
· สำนักข่าว Xinhua ระบุว่า กระทรวงทรัพยากรมนุษย์แห่งประเทศจีนอาจมีการออกนโยบายใหม่เพื่อเข้ามาช่วยรักษาอัตราจ้างงานให้มีความสมดุลภายในปีนี้
ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงสู่ระดับ 6 – 6.5% จากเดิมที่ 6.5% ในปี 2018
· สำนักงานด้านกฎหมาย Baker & McKenzie ระบุว่า ปริมาณการลงทุนจากประเทศจีนสู่อเมริกาเหนือและยุโรปปรับลด 73% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ท่ามกลางรัฐบาลสหรัฐฯที่พยายามกีดกันการลงทุนจากประเทศจีน รวมถึงทางรัฐบาลจีนเองที่พยายามควบคุมการลงทุนให้อยู่ภายในประเทศเท่านั้น
ตัวเลขดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเมื่อพิจาณาจากการถอนทุนบริษัทด้วยแล้ว ปริมาณการลงทุนจากจีนสู่สหรัฐฯถือว่าเข้าสู่แดนลบ
ทั้งนี้ ปริมาณการลงทุนจากจีนสู่สหรัฐฯปรับลดลง 83% แต่ในทางกลับกัน ปริมาณการลงทุนจากจีนสู่แคนาดากลับเพิ่มขึ้น 80% สำหรับภาพรวมการลงทุนสู่ยุโรปแม้ว่าจะปรับลดลง แต่การลงทุนสู่เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน กลับเพิ่มสูงขึ้น
· หน่วยงานต่อต้านการคอรัปชั่นในประเทศจีนระบุว่า ภายในปีนี้รัฐบาลจะมุ่งเน้นการกำจัดคอรัปชั่นไปยังภาคการศึกษา ภาคการพยาบาล ภาคสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาคอื่นๆที่ได้รับการร้องเรียนมา
ทั้งนี้ การต่อสู้กับการคอรัปชั่นในประเทศถือเป็นหนึ่งในนโยบายบริหารประเทศหลักของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และถึงแม้ว่าการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาจะเป็น “ชัยชนะอย่างล้นหลามของรัฐบาล” แต่การคอรัปชั่นที่ฝังรากลึกเข้าไปในสังคมจีนยังจำเป็นต้องถูกกำจัดออกไป
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงประมาณ 2% ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ภาพรวมก็สามารถปิดรายสัปดาห์สูงขึ้น จากความหวังต่อการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับลง 1 เหรียญ คิดเป็น -1.9% ที่ 51.59 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดลง 1.15 เหรียญ คิดเป็น -1.9% ที่ 60.53 เหรียญ/บาร์เรล
วันศุกร์ที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าราคาน้ำมันปิดปรับตัวลงหลังจากที่ปิดขึ้นต่อเนื่อง 9 วันทำการ และนับเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ม.ค. 2010 สำหรับ WTI ละดีที่สุดสำหรับ Brent นับตั้งแต่ เม.ย. 2007 และโดยภาพรวมสัปดาห์ที่แล้วน้ำมันดิบ WTI ปิด +7.5% ขณะที่ Brent ปิด +6%
· นายโมฮัมเม็ด บาร์กินโด เลขาธิการโอเปก มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดน้ำมันที่จะบรรลุเป้าหมายความมีดุลยภาพในปี 2019 แต่ก็ยังมีความกังวลว่าความเป็นไปได้ของ Trade War ระหว่างสหรัฐฯและจีนจะเป็นอุปสรรคสำหรับการขยายตัวของประเทศหลักในตลาดเอเชีย ที่มีการนำเข้าน้ำมันได้
· รัฐบาลสหรัฐฯกล่าวเตือนภาคบริษัทในเยอรมนีว่า หากยังคงให้การสนับสนุนการก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน Nord Stream 2 ร่วมกับรัสเซีย สหรัฐฯอาจมีหารออกนโยบายมาคว่ำบาตรภาคบริษัทเหล่านี้ได้
โดยท่อส่งน้ำมันดังกล่าว จะช่วยขนส่งน้ำมันจากรัสเซียสู่เยอรมนีผ่านใต้ทะเลบอลติก ซึ่งผู้คัดค้านได้กล่าวเตือนว่าอาจทำให้ประเทศยูเครนสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าขนส่งน้ำมัน และอาจกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจยูเครนได้ในอนาคต