· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดร่วงลงจากคาดการณ์ผลประกอบการที่ไม่น่าจะสดใสของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่ 4/2018 โดยคาดว่าจะมีการเติบบโตได้เพียง 12.6% จากเดิมที่ขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 25% ตามอ้างอิงจากรายงานของ CFRA Research อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่กระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุนในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์
ดัชนีดาวโจนส์ปิดปรับลง 86.11 จุด ที่ระดับ 23,909.84 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.54% ที่ 2,582.61 จุด และหุ้น Nasdaq ปิด -0.9% ที่ระดับ 6,905.92 จุด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในปี 2019 ที่ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐฯมีอัตราการปิดลง 2 วันทำการมากที่สุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นปรับตัวลงจากหุ้นบริษัท Amazon, Apple, Netflix และ Alphabet ต่างปิดลงกว่า 1% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีใน S&P 500 ปิดร่วงลงกว่า 0.9%
· ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวานนี้ปิดร่วงลงหลังจากที่ข้อมูลนำเข้าและส่งออกจีนออกมาแย่เหนือความคาดหมาย จึงยิ่งตอกย้ำความกังวลต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี Stoxx600 ปิด -0.6% และหุ้นหลักส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในแดนลบ จึงทำให้หุ้นเกือบทุกภาคส่วนปรับตัวลงตาม
· ตลาดหุ้นฝั่งเอเชียแปซิฟิคเปิดแดนบวก โดยเป็นการรีบาวน์กลับแม้ว่าตลาดจะมีความกังวลต่อภาวการณ์ชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีน และความเชื่อมั่นนักลงทุนเชิงลบหลังจากทราบข้อมูลการค้าจีน
ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +1.03% ขณะที่ดัชนีนิกเกอิเปิด +0.34% หลังจากเมื่อวานนี้ปิดทำการไปในวันบรรลุนิติภาวะ
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.90-32.10 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ตลาดจับตา คือ มติของรัฐสภาอังกฤษเกี่ยวกับนโยบาย Brexit ตามที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษทำไว้กับผู้นำอียู แต่มองว่าไม่น่าจะผ่าน ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า บาทก็อาจจะอ่อนค่าไประดับ 32 บาทต้นๆ ได้ แต่คงไม่อ่อนไปมาก เพราะโดนกดดันจากปัจจัยเฟดขึ้นดอกเบี้ยด้วย
· บลจ.กสิกรไทย คงมุมมองเป็นบวกสำหรับภาพการลงทุนระยะกลางถึงยาวในตลาดหุ้นไทย จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเติบโตดี โดยมองเป้าหมาย SET Index ปลายปี 62 ที่ 1,750 จุด บนสมมติฐานการคาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ที่ 6% ปรับลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 8% เนื่องจากปรับลดราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีลงเหลือ 60 เหรียญ/บาร์เรล จากเดิม 70 เหรียญ/บาร์เรล
· บลจ.กสิกรไทย คาดทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 62 จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ด้วยปัจจัยบวกภายในประเทศอย่างการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจัยภายนอกยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ ยังต้องจับตามองการเลือกตั้งของประเทศไทย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.62 ซึ่งถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น จะช่วยดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้