· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร หลังจากที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ขณะที่ค่าเงินปอนด์กลับแข็งค่าอีกครั้งก่อนทราบผลการโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลอังกฤษ
ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไป 0.05% ที่ระดับ 1.14 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ช่วงต้นตลาดลงไปทำระดับต่ำสุดรอบ 12 วันทำการบริเวณ 1.138 ดอลลาร์/ยูโร หลังข้อมูลเศรษฐกิจเยอรมนี สะท้อนถึงภาวะถดถอยตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2018 ที่ผ่านมา ขณะที่เมื่อวันอังคาร นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจยูโรโซนนั้นอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้
· นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสจาก Western Union กล่าวว่า ถ้อยแถลงจากประธานอีซีบียิ่งบั่นทอนมุมมองเศรษฐกิจยูโรโซน ทำให้นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวัง และเห็นค่าเงินยูโรร่วงลงจากระดับแข็งค่ามากที่สุดรอบ 3 เดือน และมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าอีซีบีน่าจะยังไม่สามารถปรับนโยบายสู่ภาวะปกติได้ในช่วงปลายปีนี้
· ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 96.075 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรทรงตัวที่ 1.1397 ดอลลาร์/ยูโรในเช้านี้
· ค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษยังคงได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอในการโหวตไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อวานนี้ โดยเธอยังได้รับเสียงสนับสนุน 325 เสียง ขณะที่ 306 เสียงโหวตไว้วางใจในตัวเธอ และผลดังกล่าวทำให้ค่าเงินปอนด์ปรับขึ้น 0.1% ที่ 1.2866 ดอลลาร์/ปอนด์
· รัฐบาลของนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้รับชัยชนะในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปด้วยคะแนนเสียง 325 ต่อ 306 เสียง เมื่อคืนนี้ ส่งผลให้รัฐบาลของนางเมย์สามารถดำเนินงานต่อไป เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและเร่งหาจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับประเด็น Brexit
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความแตกแยกในรัฐสภาเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ที่ส่วนใหญ่ยังคงไม่เห็นด้วยกับนางเมย์ นักวิเคราะห์จึงมองว่ามีโอกาสมากขึ้น ที่อังกฤษอาจถอนตัวออกจากอียูแบบ No-deal หรืออาจจัดการลงประชามติขึ้นมาอีกครั้ง
· CEO จาก J.P. Morgan Chase กล่าว่า การเกิด Hard Brexit จะหมายถึงการที่อังกฤษออกจากอียูโดยปราศจากการเป็น Single Market และนั่นจะเป็นหายนะต่อประเทศ ซึ่งถือเป็นผลร้ายของอังกฤษอย่างมาก
· นายนีล คาชคาริ ประธานเฟดสาขามินิแอโปลิส ระบุว่า ภาคธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐฯมีความปลอดภัยสูงกว่าในสมัยวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2007-2009
ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า เฟดมีความสามารถในการใช้นโยบายการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงินที่เทียบเท่ากับในสมัยก่อนหน้าวิกฤติการเงิน และถึงแม้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้เฟดไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็ตาม แต่เฟดก็มีประสบการณ์ที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายผ่อนคลายทางเงินอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยเศรษฐกิจในยามจำเป็น
· ท่ามกลางภาวะ Shutdown ของสหรัฐฯที่เข้าสู่วันที่ 26 นางแนนซี่ เพโลซี่ โฆษกประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เลื่อนกำหนดการกล่าวถ้อยแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา (State of the Union) ออกไป จากเดิมทีที่มีกำหนดการไว้ในวันที่ 29 ม.ค.
โดยนางแนนซี่ให้เหตุผลว่า ระบบรักษาความปลอดภัยในการกล่าวถ้อยแถลง ยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน จึงกังวลว่าอาจเกิดปัญหาได้ แต่ยังไม่มีสัญญาณว่านายทรัมป์จะตอบรับเช่นไร ขณะที่การกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวมีความสำคัญคือ อาจเป็นโอกาสให้นายทรัมป์เรียกเสียงสนับสนุนในการก่อสร้างกำแพงชายแดนจากรัฐสภาได้ ด้วยการกล่าวโจมตีพรรคเดโมแครตที่นายทรัมป์มองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Shutdown
· นายชาลส์ กลาสลี่ ประธานคณะกรรมาธิการการคลังแห่งวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า นายทรัมป์มีแนวโน้มที่จะพิจารณาปรับขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการกดดันให้ทางอียูยอมรับข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เคยมีรายงานว่าทางกระทรวงพาณิชย์ได้เคยเสนอให้นายทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์อีก 25% ภายในช่วงกลางเดือน ก.พ. แต่ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters เมื่อคืนนี้ ทางโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในส่วนนี้
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า เมื่อวานนี้ ทางธนาคารกลางจีนได้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารในประเทศเป็นมูลค่า 5.60 แสนล้านหยวน (8.3 หมื่นล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นมูลค่าเงินอัดฉีดรายวันที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหญ่
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปี เมื่อวานนี้ปรับร่วงลงต่ำกว่าระดับ 3.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอการเติบโตลง
ทางด้านนายหลี่ เค่อเฉียง รองนายกรัฐมนตรีจีน ก็ได้ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ให้สัญญาว่ารัฐบาลจะพยายามรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ด้วยการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้เคยกล่าวว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแอ ทางรัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องตอบรับการเจรจากับสหรัฐฯ ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลในช่วงกลางปี 2019 แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงเวลาเดียวกันแทน โดยมองอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงนั้นไว้ต่ำกว่าระดับ 2% เทียบกับช่วงต้นปี 2019 ที่ประมาณ 2.5%
· ราคาน้ำมันดิบปิดทรงตัวหลังจากที่พุ่งขึ้น 3% ในวันก่อนหน้า ท่ามกลางข้อมูลการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นของสหรัฐฯประกอบกับยอดผลิตน้ำมันปรับขึ้นเป็นประวัติการณ์ จึงอาจเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนราคาน้ำมันได้
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 20 เซนต์ ที่ระดับ 52.31 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับขึ้น 68 เซนต์ คิดเป็น +1.1% ที่ระดับ 61.32 เหรียญ/บาร์เรล