· ค่าเงินดอลลาร์ปรับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ดูจะทำให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไป 0.28% เมื่อเทียบกับเงินเยน และดูค่าเงินเยนจะเคลื่อนไหวได้ดีในช่วงที่ภาวะทางการเงินหรือการเมืองมีความตึงเครียด ขณะที่ดอลลาร์ถูกกดดันจากการที่ IMF หั่นคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้า และระบุว่า ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทางการค้าจะเป็นปัจจัยหลักในการบั่นทอนเสถียรภาพ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ขณะที่รายงานล่าสุดจาก Financial Times ระบุว่า สหรัฐฯมีการปฏิเสธประชุมร่วมกับจีนที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างทีมบริหารของนายทรัมป์ กับรองรัฐมนตรีจีนจำนวน 2 รายที่มีกำหนดเดินทางมาสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ เนื่องจากยังขาดความคืบหน้าถึง 2 รายละเอียดสำคัญที่สหรัฐฯต้องการ
ข้อมูลยอดขายบ้านมือ 2 ของสหรัฐฯร่วงลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 3 ปีในเดือนธ.ค. ที่ระดับ 4.99 ล้านยูนิต หรือปรับตัวลงจากเดิม 3.4 แสนยูนิต (เดิมเดือนก่อนหน้าที่ 5.33 ล้านยูนิต) ขณะที่ราคาขายบ้านเพิ่มสูงขึ้น จึงสะท้อนถึงภาวะอ่อนแอในตลาดที่อยู่อาศัยและเป็นอีกปัจจัยที่เข้ากดดันค่าเงินดอลลาร์
ดัชนีดอลลาร์ทรงตัวที่ 96.303 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดปรับขึ้นไปทำ High 96.484 จุด ทางด้านค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นแตะ 109.5 เยน/ดอลลาร์ ก่อนจะทรงตัวแถว 109.39 เยน/ดอลลาร์
· ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลง ท่ามกลางภาวะ Shutdown ที่ยังคงดำเนินไป และความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะฉุดให้เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ โดยผลตอบแทนอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะ 2.755% ขณะที่อายุ 30 ปีปรับตัวลงแตะ 3.074%
· ค่าเงินยูโรทรงตัวใกล้ระดับอ่อนค่ามากที่สุดรอบ 3 สัปดาห์ หลังข้อมูลความเชื่อมั่นนักลงทุนในเยอรมนีปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนม.ค. ขณะที่ภาพรวมเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันดูจะยังอยู่แตะระดับต่ำสุดรอบ 4 ปี ทางด้านค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นตอบรับกับข้อมูลจ้างงานที่แข็งแกร่งของอังกฤษและสะท้อนว่าตลาดแรงงานอังกฤษยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณชะลอตัวก่อน Brexit โดยค่าเงินปอนด์ปรับแข็งค่าขึ้น 0.52% ที่ 1.2957 ดอลลาร์/ปอนด์
· เจ้าหน้าที่ในสำนักงานตัวแทนการค้าแห่งสหรัฐฯได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC โดยระบุว่า ทางสำนักงานฯได้ประกาศยกเลิกการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนสหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ระดับรองรัฐมนตรีจากประเทศจีนจำนวน 2 คน ที่จะมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งจุดประสงค์ของการประชุมดังกล่าว มีขึ้นเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาทางการค้าร่วมกันให้ได้ก่อนถึงกำหนดเดดไลน์ในวันที่ 1 มี.ค.
โดยหากจีนและสหรัฐฯไม่สามารถหาข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้ก่อนถึงเดดไลน์ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เคยกล่าวไว้ว่า เขาจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากประเทศจีนเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้านำเข้าทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม นายแลรี คุดโลว์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีกำหนดการเจรจาการค้าร่วมกับตัวแทนจากจีนภายในสัปดาห์นี้แต่อย่างใด โดยการเจรจากับจีนที่กำหนดไว้ในช่วงนี้ จะมีเฉพาะการเจรจาร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีจีนในช่วงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น
โดยทางทำเนียบได้ยืนยันว่า การประชุมร่วมกับนายหลิว อี้ รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่จะมีขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้ ไม่ได้ถูกยกเลิกไปแต่อย่างใด แม้ทางทำเนียบขาวจะไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์จาก J.P. Morgan มองว่า หากมีสัญญาณความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ตลาดมักจะมีการตอบรับไปในทิศทางบวก และเมื่อสัปดาห์ก่อน ทางจีนมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการดำเนินนโยบายในระยะยาว ที่มีเป้าหมายจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้า และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเป็นมูลค่ากว่าล้านล้านเหรียญภายในปี 2024
· วุฒิสภาสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณของความตั้งใจที่จะหยุดภาวะ Shutdown มากขึ้นเล็กน้อย แม้จะยังไม่มีท่าทีว่าภาวะ Shutdown จะหยุดในเร็วๆนี้แต่อย่างใด ขณะที่ข้าราชการสหรัฐฯกว่า 800,000 ราย ต้องหยุดงานหรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าแรง
โดยนายมิทช์ แมคคอนเนล หัวหน้าพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐฯที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ส่งสัญญาณจะสนับสนุนการลงมติในร่างงบประมาณของพรรคเดโมแครตที่จะมอบงบประมาณให้กับภาครัฐเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยไม่รวมงบประมาณก่อสร้างกำแพงชายแดนเป็นมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญแต่อย่างใด แม้ทางนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเคยต่อต้านร่างบประมาณที่คล้ายกันในสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้ก็ตาม
ขณะที่ทีมบริหารของนายทรัมป์ยืนยันว่า นายทรัมป์ยังคงมีความตั้งใจที่จะขึ้นกล่าวแถลงการณ์นโยบายประจำปีต่อรัฐสภา (State of the Union) ตามกำหนดการเดิมในวันที่ 29 ม.ค. แม้ทางนางแนนซี่ เปโลซี่ โฆษกประจำสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอให้พิจารณาเลื่อนแถลงการณ์ดังกล่าวออกไป เนื่องจากภาวะ Shutdown ที่ยังคงยืดเยื้อก็ตาม
· ภาวะ Shutdown ของสหรัฐฯที่กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 2 ได้ส่งผลกระทบให้การประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ภาครัฐเป็นผู้เก็บรวบรวมต้องถูกเลื่อนออกไป ทำให้บรรดานักลงทุนในตลาดต้องอาศัยการคาดเดาของตัวเองในการตัดสินใจลงทุน
โดยหน่วยงานรัฐที่ได้รับผลกระทบจากภาวะ Shutdown ได้แก่กระทรวงพาณิชย์ ทำให้การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่รวบรวมโดยหน่วยงานด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) และหน่วยงานด้านสิถิติ ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดที่ชัดเจน ขณะที่กระทรวงแรงงานซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจาก Shutdown จึงทำให้หน่วยงานด้านสิถิติแรงงาน สามารถดำเนินการเก็บข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานได้ตามปกติ
· นายเจเรมี โคบลิน หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านรัฐสภาอังกฤษ มีความคืบหน้าในการผลักดันให้เกิดการลงประชามติ Brexit อีกรอบมากขึ้น โดยเรียกร้องรัฐสภาให้พิจารณาถอนอำนาจในการบริหารนโยบาย Brexit ออกจากนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การลงมติข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ จบลงด้วยพ่ายแพ้อย่างขาดลอยไปด้วยคะแนนเสียง 432-202 ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ส่งผลให้บรรดา ส.ส. ต้องการให้รัฐสภาเรียกอำนาจในการบริหาร Brexit ออกจากนางเมย์ที่มีเสียงสนับสนุนน้อยลงเข้าทุกที
ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา นางเมย์ยังคงพยายามผลักดันข้อตกลง Brexit ฉบับเดิมของเธอ โดยให้สัญยาว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นการผลักดัน Plan B ส่งผลให้บรรดาผู้ไม่เห็นด้วย มองว่านางเมย์กำลังพยายามหลอกตัวเองและปฏิเสธความพ่ายแพ้ในการลงมติเมื่อสัปดาห์ก่อนอยู่
· บีโอเจมีแนวโน้มที่จะประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเงินเฟ้อและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่อนคลายแบบพิเศษไว้ดังเดิม ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจยีงคงเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของอุปสงค์ทั่วโลก
ทั้งนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจบ่งชี้ว่าบีโอเจยังคงห่างไกลจากแผนทยอยออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่วางไว้ตั้งแต่ในปี 2013 แม้บรรดาสมาชิกบอร์ดของบีโอเจจะตระหนักดีว่า การคงนโยบายผ่อนคลายทางเงินเป็นระยะเวลายาวนานจะเป็นการส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าจะส่งผลดี
นักวิเคราะห์จาก Mitsubishi UFJ Morgan Stanleyระบุว่า นอกจากแผนปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน ต.ค. ปีนี้แล้ว ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของตลาดหุ้น เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า บีโอเจยังไม่ควรเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแต่อย่างใด
ขณะที่ถ้อยแถลงของผู้ว่าบีโอเจในวันนี้ มีแนวโน้มที่จะแสดงความพร้อมของบีโอเจที่จะคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป พร้อมวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นการจากคงนโยบายดังกล่าวไว้ รวมถึงอาจส่งสัญญาณเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ทางบีโอเจจะจับตาความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในมีความชัดเจนก่อนที่จะส่งสัญญาณเปลี่ยนแปลงนโยบาย
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงท่ามกลางข้อมูลการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ประกอบกับการที่ IMF หั่นคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก จึงเพิ่มความกังวลครั้งใหม่ให้แก่ตลาดเกี่ยวกับภาวะอุปสงค์เชื้อเพลิง
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดลง 1.23 เหรียญ คิดเป็น -2.3% ที่ระดับ 52.57 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 1.2 เหรียญ คิดเป็น -1.9% ที่ระดับ 61.54 เหรียญ/บาร์เรล