ในสัปดาห์นี้ความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย มาจากรายงานจีดีพีประจำปี 2018 ของจีน ที่แสดงให้เห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ระดับ 6.6% ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่บางราย อย่าง Bridgewater กล่าวเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่ประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ทางด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้จะมีแนวโน้มจะเห็นเศรษฐกิจชะลอตัว แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่คิดว่าจะทราบข้อมูลได้มากพอ อันเนื่องจากผลกระทบของภาวะ Shutdown ขณะที่ข้อมูลยอดขายบ้านมือสองในเดือนธ.ค. ออกมาแย่ลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 3 ปี ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็อ่อนตัวลงแตะ 90.7 จุด ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต.ค. ปี2016 ท่ามกลางข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังแข็งแกร่ง แต่ ISM ได้เผยข้อมูลกิจกรรมการผลิตที่ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 2 ปี
· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics กล่าวว่า มีเพียงข้อมูลที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็ไม่คิดว่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีนี้ แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯจะประสบภาวะดังกล่าวในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่เราคิดถึงผลลบมาจากการที่เศรษฐกิจมีความอ่อนแอ ประกอบกับแรงกดดันทางการเมืองที่ดูจะรุนแรงมากขึ้น และกลุ่มผู้กำหนดนโยบายจะเริ่มตอบรับในการหานโยบายมาดำเนินการกับผลกระทบดังกล่าว
ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดขึ้นในปี 2020 และดูจะมีสัญญาณขาลงต่อมากกว่าที่เราคาดการณ์กันไว้ โดยเรื่องที่กังวลนั้นมาจากภาวะทางการเมืองและการต่อต้านชาตินิยมที่เกิดขึ้น
· นายแลร์รี่ คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้างกับจีนต่อไป แม้ว่าจะต้องการบรรลุข้อตกลงทางค้าเพื่อกระตุ้นตลาดผ่านการปฏิรูปโครงสร้างที่แท้จริง รวมถึงวิธีจัดการกับทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อบรรลุข้อตกลง
อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและการจำกัดการเป็นเจ้าของยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับทรัมป์
· พรรค Labour ที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสภาอังกฤษ มีแนวโน้มสูงที่จะให้การสนับสนุนร่างนโยบาย Brexit ที่ ส.ส.ยีเวทต์ คูเปอร์ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของพรรคLabour เป็นผู้นำเสนอต่อรัฐสภา
โดยร่างนโยบายดังกล่าวจะขยายระยะเวลาให้รัฐบาลของนางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 26 ก.พ. สำหรับการแก้ไขร่างข้อตกลง Brexit กับอียูให้เป็นที่ยอมรับจากรัฐสภา
หากรัฐบาลไม่สามารถหาข้อตกลงได้ทันก่อนถึงวันที่ดังกล่าว รัฐสภาจะดำเนินการลงมติเห็นชอบว่าจะขยายระยะเวลาของมาตรา 50 เพื่อเลื่อนกำหนดการถอนตัวออกจากอียูแบบ No-deal จากเดิมวันที่ 29 มี.ค. ออกไปอีก 9 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. หรือไม่
· นายมัตเตโอ ซาลวินี รองนายกรัฐมนตรีอิตาลี แสดงความหวังว่า พรรคการเมืองของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะสูญเสียเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งที่นั่งภายในรัฐสภาอียูในปีนี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงความขัดแย้งระหว่างอิตาลีและฝรั่งเศส
ทั้งนี้ อิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งเดิมที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด กลับเริ่มมีท่าทีของความไม่พึงพอใจต่อกัน หลังพรรคฝ่ายขวาจัดและพรรค 5-Star Movement ของอิตาลีก่อตั้งพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อปีที่ผ่านมา และได้ประกาศต่อต้านนโยบายของพรรค En Marche ของนายมาครง
· นักวิเคราะห์จาก DailyFX ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับแนวต้าน 54.51 - 55.24 เหรียญ/บาร์เรล แต่หากฝ่าไปได้ก็มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันกลับไปแถว 59.05 เหรียญ/บาร์เรล ในทางกลับกันหากหลุดต่ำกว่าแนวรับ 50.15 - 49.41 เหรียญ/บาร์เรล ก้็มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันกลับลงมาที่ 42.55 - 42.05 เหรียญ/บาร์เรล
· ผลสำรวจโดย Reuters พบว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับมีแนวโน้มจะขยายตัวด้วยอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ โดยเป็นผลกระทบมาจากการปรับลดลงกำลังการผลิตน้ำมัน ราคาน้ำมันที่ต่ำ และภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ผลสำรวจคาดการณ์ GDP ของกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับโดยภาพรวม มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ 2.1% ในปี 2019 และ 2.2% ในปี 2020 เทียบกับผลสำรวจเมื่อ 3 เดือนก่อน ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% และ 3.0% ตามลำดับ
ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 2017 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 71.6 เหรียญ/บาร์เรล เทียบกับราคาเฉลี่ยปีนี้ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 60 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าราคาจะเฉลี่ยต่ำกว่าระดับ 70 เหรียญ/บาร์เรลตลอดปี 2019 ท่ามกลางแรงกดดันจากภาวะอุปสงค์อ่อนแอแต่อุปทานกลับล้นตลาด
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า มาตรการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ตกลงกันระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง รัสเซีย จะสามารถช่วยหนุนราคาน้ำมันได้จริง แต่จะเป็นการกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้แทน
ขณะที่ทางรัฐบาลของซาอุดิอาระเบีย มีแผนจะเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายอีก 7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมัน ขณะที่ผลสำรวจล่าสุด คาดการณ์ว่ายอดขาดดุลของซาอุดิอาระเบียในปีนี้จะขยายตัวสู่ระดับ 5.6% ของยอด GDP จากผลสำรวจเดิมที่ 4% และสู่ระดับ 5.9% ในปี 2020 จากเดิมที่ 2.8%
· ราคาน้ำมันดิบทรงตัว ท่ามกลางความหวังหลังรัฐบาลจีนส่งสัญญาณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ส่งผลให้ตลาดโลกกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจเผชิญหน้ากับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent ทรงตัวที่ระดับ 61.49 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคานำมันดิบ WTI ทรงตัวบริเวณ 52.98 เหรียญ/บาร์เรล
· หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Saxo Bank กล่าวว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังของจีน กล่าวว่า รัฐบาลจะเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังในปีนี้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
ปัจจัยที่น่าจะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ คือ ความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ควรจะส่งสัญญาณเชิงบวกก่อนวันที่ 5 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นวันตรุษจีน มิเช่นนั้นอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวยิ่งไปกว่าเดิม
ซึ่งหากสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนช่วงเวลาดังกล่าว ก็อาจจะเห็นเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งขึ้น