· ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร หลังจากที่ นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี กล่าวว่า เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะกลับสู่ขาลง ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจระยะสั้นมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่ภาพรวมอีซีบียังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และคงมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะชะลอตัวครั้งใหญ่ในรอบกว่าครึ่งทศวรรษ
· ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไป 0.71% ทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดบริเวณ 1.1299 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.1308 ดอลลาร์/ยูโร ทางด้านดัชนีดอลลาร์ขยับแข็งค่าขึ้น 0.48% ที่ 96.58 จุด
อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของประธานอีซีบีส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าอาจเห็นอีซีบีเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ประกอบกับตลาดเริ่มมีท่าทีระมัดระวังก่อนทราบผลประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า
อ้างอิงตามผลสำรวจจากรอยเตอร์ส ชี้ว่า นักลงทุนมองโอกาสอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้ง ในช่วงกลางปี 2020
· นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ IMF กล่าวในที่ประชุม WEF (World Economic Forum) โดยระบุว่า ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนเป็นเรื่องจริงที่ปรากฏขึ้นแล้ว พร้อมกล่าวเตือนว่าอาจสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ได้หากว่าภาวะขาลงเริ่มต้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้อยแถลงของเธอถือเป็นการเน้นย้ำความกังวลทางเศรษฐกิจจีนที่ทางกลุ่มผู้กำหนดนโยบายจะต้องเร่งดำเนินการควบคุมให้ได้
· รายงานจาก CNBC ระบุว่า ท่ามกลางการปราศจากข้อตกลงทางการค้าของสหรัฐฯและจีน ประกอบกับความกังวลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้บริษัทใหญ่หลายรายในสหรัฐฯ กล่าวเตือนว่า แบรนด์การค้าระดับใหญ่นานาชาติอาจมีความนิยมในสินค้าลดน้อยลง
· ผลสำรวจโดย Reuters คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวลง โดยเฉพาะหากสหรัฐฯและจีนมีความขัดแย้งทางการค้าร่วมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางมุมมองของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจ จากเดิมในปีก่อนที่ยังมองเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวได้
ทั้งนี้ แบบสำรวจ Reuters คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5% เทียบกับคาดการณ์เดิมที่ 3.6% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ในเดือน ก.ค. ปี 2017 ที่คาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถูกปรับลดลง
นอกจากนี้ อัตราการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ ยังสอดคล้องกับคาดการณ์ขององค์กร IMF มีได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงสู่ระดับ 3.5% เช่นกัน
· นายจอร์จ ซอรอส มหาเศรษฐีรายใหญ่ กล่าวเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับสงครามเย็น (Cold war) ซึ่งภาวะดังกล่าว มีความเสี่ยงที่จะขยายความรุนแรงกลายเป็นสงครามจริงๆได้
ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจขาลง ขณะที่ระยะยาวสงครามการค้าของทั้งสองประเทศจะบั่นทอนภาคธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ทั้งนี้ นายซอรอส กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายที่สหรัฐฯใช้กดดันการค้ากับจีน ควรเป็นนโยบายที่ถูกขัดเกลามามากกว่านี้ มีรายละเอียดที่ชัดเจน และควรนำไปใช้ได้จริง รวมถึงสหรัฐฯควรมีการตอบรับนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีนลงในมาตรการดังกล่าวด้วย
· นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า หากผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาสูง และผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาล่าง สามารถบรรลุข้อตกลวงร่วมกันเกี่ยวกับร่างนโยบายที่จะมาหยุดภาวะ Shutdown เขาก็เต็มใจที่จะให้การสนับสนุน
โดยผู้นำของทั้ง 2 พรรค จะมีการเจรจาร่วมกันภายในคืนนี้อีกครั้ง หลังการลงมติร่างงบประมาณที่จะมาหยุดภาวะ Shutdown จำนวน 2 ฉบับ ยังคงประสบความล้มเหลวในการเรียกเสียงสนับสนุนจากสภาสูง
· พรรครีพับลิกัน เมื่อคืนนี้ มีการเปิดเผยร่างนโยบายที่จะมอบอำนาจเพิ่มเติมให้กับนายทรัมป์สำหรับการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจะต่างประเทศ เพื่อเป็นมาตรกดดันให้ต่างประเทศพิจารณาลดภาษีและกำแพงทางการค้าของพวกเขาลง
อย่างไรก็ตาม ร่างนโยบายดังกล่าวได้ประสบเสียงคัดค้านจากพรรครีพับลิกันด้วยกันเอง โดยเฉพาะในสภาสูง และรวมไปถึงนายชัค กลาสลี่ ประธานคณะกรรมการด้านการเงินในสภา ที่ระบุว่าไม่สามารถยอมรับร่างนโยบายดังกล่าวได้
ขณะที่พรรคเดโมแครตในสภาล่าง ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไม่ให้การสนับสนุนร่างนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายที่จะมอบอำนาจในการขึ้นภาษีแบบเด็ดขาดให้กับประธานาธิบดี อีกรัฐบาลยังคงอยู่ในภาวะ Shutdown จึงควรเร่งแก้ไขปัญหาในจุดนี้เสียก่อน
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯที่มีท่าทีจะคว่ำบาตรประเทศเวเนซูเอล่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มโอเปก แต่การปรับขึ้นเมื่อคืนนี้ก็เป็นไปอย่างจำกัดจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สะท้อนว่าสต็อกแก๊สโซลีนปรับตัวขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯขยายตัวเกินคาด
น้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้น 51 เซนต์ คิดเป็น +1% ที่ระดับ 53.13 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดลง 2 เซนต์ ที่ระดับ 61.12 เหรียญ/บาร์เรล
· สหรัฐฯ มีการส่งสัญญาณอาจทำการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา ทั้งนี้ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา ประกาศแต่งตั้งตนเป็นผู้รักษาการแทนประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในวันพุธที่ผ่านมา และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯและประเทศในแถบลาตินอเมริกาเพื่อต่อต้าน นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลาที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2013 และนั่นส่งผลสั่นคลอนต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและเวเนซุเอลา
· รัฐบาลสหรัฐฯประกาศให้การสนับสนุนฝ่ายค้านในรัฐบาลเวเนซุเอลา พร้อมข่มขู่จะออกมาตรการมากดดันรัฐบาลของนายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา ซึ่งอาจรวมถึงการคว่ำบาตรทางน้ำมัน
ขณะที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแห่งเวเนซุเอลา และรัฐบาลรัสเซีย กลับประกาศให้การสนับสนุนประธานาธิบดีมาดูโร จึงอาจเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างนานาประเทศได้
ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯและประเทศอื่นๆมีความเห็นว่า นายฮวน กุยโด ผู้นำพรรคฝ่ายค้านแห่งเวเนซุเอลา มีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งรักษาการณ์ประธานาธิบดี
· นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองของเวเนซุเอลาในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เลวร้ายมาก และการเปลี่ยนแปลงขั่วอำนาจอาจเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้
ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสหรัฐฯจะออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันเวเนซุเอลาเพิ่มเติมจริงไม่ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง เศรษฐกิจเวเนซุเอลาที่เลวร้ายอยู่แล้วก็จะยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก เนื่องจากน้ำมันถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของเวเนซุเอลา
· กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ เร่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสหรัฐฯที่อาศัยอยู่ในเวเนซุเอลา รีบเดินทางออกจากประเทศ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้น 1 วันหลังจากที่สหรัฐฯประกาศให้การสนับสนุนฝ่ายค้านในรัฐบาลเวเนซุเอลา
ขณะที่ทางประธานาธิบดีมาดูโรแห่งเวเนซุเอลา ได้ประกาศยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ และให้เวลาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เป็นเวลา 3 วัน สำหรับการเดินทางออกจากประเทศ ในขณะที่สายการบินพาณิชย์ยังคงเปิดให้บริการ