ขณะที่ในระยะสั้นทำการซื้อขายที่ระดับ 109.220 เยน/ดอลลาร์และทำการ Stop Loss ที่ระดับ 110.120 เยน/ดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายกำไรที่ระดับ 106.340 เยน/ดอลลาร์
· ผลสำรวจสภาวะธุรกิจรายไตรมาส โดยสมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ (NABE) พบว่า นโยบายปรับลดภาษีเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อปริมาณการลงทุนหรือการจ้างงานของภาคบริษัทในสหรัฐฯแต่อย่างใด
โดยผลสำรวจพบว่า บรรดาบริษัทมีปริมาณการลงทุนที่ขยายตัวขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่ถูกลง แต่บริษัทกว่า 84% ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับจำนวน 81% จากผลสำรวจรายไตรมาสก่อน
อย่างไรก็ดี ทางทำเนียบขาวมีการคาดการณ์ว่าแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีการหั่นภาษีภาคธุรกิจจาก 35% สู่ระดับ 21% อาจช่วยหนุนค่าใช้จ่ายทางด้านภาคธุรกิจและการขยายตัวในภาคแรงงาน หลังจากที่แผนดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ม.ค. ปี 2018
ทั้งนี้ นายเควิน สวิฟท์ ประธานสมาคม NABE กล่าวว่า นโยบายภาษีที่มีผลบังคับใช้มาได้ 1 ปี ยังคงไม่มีผลกระทบที่สำคัญ จนทำให้บริษัทส่วนใหญ่หรือกว่า 84% ต้องพิจาณาเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนหรือการจ้างงานแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ถูกลงกลับมีผลกระทบที่ชัดเจนในภาคการผลิต โดยผู้ผลิตที่ตอบสำรวจเป็นจำนวนกว่า 50% มีปริมาณการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อีก 20% มีปริมาณการจ้างงานและการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้ แบบสำรวจยังส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่การใช้จ่ายของภาคบริษัทอาจชะลอตัวลง หลังจากการใช้จ่ายในไตรมาสที่ 3/2018 ชะลอตัวลงสู่ระดับปานกลาง ขณะที่แบบสำรวจอีกฉบับพบว่า การใช้จ่ายในเดือน ม.ค. ปีนี้ ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปี 2017 ทำให้มุมมองเกี่ยวกับการใช้จ่ายภาคบริษัทในเดือนต่อๆไปจึงยิ่งอ่อนแอลง
ประธานสมาคม NABE ยังได้กล่าวอีกว่า มีบริษัทจำนวนน้อยลงที่เพิ่มการใช้จ่ายในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ลดลงพบว่าส่วนมากเกิดกับภาคการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่าการลงทุนในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ แบบสำรวจยังพบว่า ภาคการจ้างงานขยายตัวด้วยอัตราปานกลางในไตรมาสที่ 4/2018 เมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3/2018 ขณะที่มีบริษัทประมาณ 1 ใน 3 ที่มีปริมาณการจ้างงานเพิ่มขึ้น เทียบกับ 31% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนดัชนีวัดการจ้างงานของสมาคมปรับลดลงสู่ระดับ 25 ในเดือน ม.ค. เทียบกับระดับ 29 ในเดือน ต.ค.
· รายงานการประชุมของบีโอเจในเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบรรดาคณะกรรมการมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ท่ามกลางภาวะความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก
โดยคณะกรรมการ 2 ท่านมองว่า ควรปล่อยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับลงสู่ระดับติดลบได้เป็นการชั่วคราว เนื่องจากหากยังควบคุมอัตราผลตอบพันธบัตรในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว อาจเป็นการทำให้การเงินอยู่ภาวะตึงตัว
ขณะที่สมาชิกอีกท่าน มองว่าควรเสริมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%
ส่วนสมาชิกอีกหนึ่งท่าน แนะนำให้ควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น เพื่อผ่อนคลายภาระของระบบการเงิน และเพื่อกระตุ้นปริมาณความต้องการพันธบัตรบริษัทในหมู่นักลงทุนมากขึ้น
· ผลกำไรเดือน ธ.ค. ของภาคอุตสาหกรรมในจีนชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จึงยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจจีน หลังจากรายงานอัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมของภาคการผลิตที่ต่างชะลอตัวลงท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ
โดยอัตราผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. ชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.9% คิดเป็นมูลค่า 6.808 แสนล้านหยวน (1.009 แสนล้านเหรียญ) ท่ามกลางแรงกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นและปริมาณอุปสงค์ที่อ่อนแอ เทียบกับผลกำไรในเดือน พ.ย. ที่ชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.8% ซึ่งยังเป็นการชะลอตัวลงของผลกำไรครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารเพื่อการสื่อสารในกรุงเซี่ยงไฮ้ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มในอนาคตของผลกำไรยังคงอยู่ในทิศทางขาลง เนื่องดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index) ได้ปรับเข้าสู่แดนลบเมื่อเดือนก่อน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจีนระดับกลางและระดับล่างอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรายใหญ่จะค่อนข้างรุนแรง
· ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงกว่า 1% หลังมีรายงานว่าภาคบริษัทในสหรัฐฯเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นครั้งแรกของปี จึงเป็นสัญญาณว่าปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบริโภคน้ำมันเป็นอันดับต้นๆ กำลังประสบภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับ -1.46% หรือ 90 เซนต์ ที่บริเวณ 60.74 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ ราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับ -1.58% ที่บริเวณ 52.84 เหรียญ/บาร์เรล
เหล่าเทรดเดอร์ระบุว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นปัจจัยกดดันตลาดน้ำมันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน
ขณะที่รายงานรายสัปดาห์ของสถาบันด้านพลังงาน Baker Hughes รายงานว่า บริษัทในสหรัฐฯได้เพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันขึ้นอีก 10 แห่ง รวมเป็นทั้งหมด 862 แห่ง