· ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดปรับตัวลงจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าที่คาดรวมทั้งสัญญาณจากบริษัทแคทเทอร์พิลลา และการหั่นคาดการณ์ผลประกอบการจากบริษัทกลุ่มผู้ผลิตไมโครชิพ อย่าง Nvidia ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอตัว
ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 208.98 จุด ที่ระดับ 24,528.22 จุด ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.8% ที่ระดับ 2,643.85 จุด และ Nasdaq ปิด -1.1% ที่ระดับ 7,085.68 จุด
หุ้นบริษัทแคทเทอร์พิลลาร่วงลงไป 9.1% หลังจากที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2018 ออกมาแย่กว่าที่คาด โดยทางบริษัท ระบุว่า ยอดขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปรับตัวลงจากอุปสงค์ในจีนที่ลดน้อยลงไป และทำให้ทางบริษัทพิจารณาว่าการค้าทั่วโลกน่าจะชะลอตัวลง
ด้านหุ้นบริษัท Nvidia ร่วงลง 13.8% หลังจากที่หั่นแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาสู่ระดับ 2.2 พันล้านเหรียญ จากเดิมที่มองไว้ 2.7 พันล้านเหรียญ เพราะได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจระดับมหภาคที่กำลังย่ำแย่ โดยเฉพาะในจีนที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุปสงค์และการดำเนินการด้านกราฟฟิก
· ตลาดหุ้นยุโรปเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยแดนลบ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่จับตาความคืบหน้ากรณี Brexit และการเจรจาครั้งใหม่ของสหรัฐฯและจีน โดยดัชนี Stoxx 600 ปิด -0.94% ท่ามกลางหุ้นหลักส่วนใหญ่ที่ปิดแดนลบ แม้ว่าภาพรวมตลาดจะมีปัจจัยบวกจากการที่หน่วยงานรัฐของสหรัฐฯกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดปรับลงในเช้านี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนและความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.51% ขณะที่ดัชนี Topix เปิด -0.3% ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด -0.19% และดัชนี ASX200 เปิด -0.6%
· นักบริหารเงิน คาด วันนี้เงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า มองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.50-31.60 บาท/ดอลลาร์ โดยเมื่อวานยังไม่มีปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินเป็นพิเศษ ตลาดยังแค่รอติดตามผลการประชุมของเฟด ในช่วงกลางสัปดาห์นี้ รวมทั้งติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงเวลาเดียวกันด้วย
· สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 จะเติบโตได้ 4% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก ปี 61 ที่เติบโตได้ 4.1% ส่วนการส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4.5% การนำเข้า 5.4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1.0% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.9% โดยประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะเติบโตได้ 4.5% ส่วนการลงทุนภาครัฐเติบโตได้ 5.3% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปีนี้ เติบโต 4.3% การบริโภคภาครัฐ เติบโต 2.3%
ผู้อำนวยการ สศค. ระบุว่า ความชัดเจนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และมีผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนให้เติบโตได้กว่าปีก่อน รวมถึงแนวโน้มจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มาตรการจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 62 หลังจากภาคการส่งออกมีสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
พร้อมมองว่า การมีรัฐบาลใหม่จะมีผลในด้านจิตวิทยากับนักลงทุน ซึ่งจะเป็นผลดีกับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่ง สศค. ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากกว่าปริมาณเม็ดเงินจากการเลือกตั้งที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้ สศค. ยังได้เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือน ธ.ค.61 และไตรมาส 4/61 ว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจประจำเดือน ธ.ค.61 จะมีสัญญาณชะลอตัวอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกรในช่วงปลายปี 61 บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี และรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
ขณะที่รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ระบุว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาคเช่นกัน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี