· ค่าเงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยเหล่าเทรดเดอร์ระมัดระวังการทำสถานะครั้งใหม่ก่อนประชุมเฟด และการเจรจาสหรัฐฯและจีน ขณะที่อุปสงค์ความต้องการดอลลาร์ในฐานะ Safe-Haven เลือนหายไป หลังจากที่หน่วยงานรัฐบาลกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากที่ปิดไปเป็นเวลานาน ขณะที่ภาพรวมนักลงทุนมองว่าการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจจะถูกเลื่อนออกไปด้วย
ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.04% ที่ระดับ 95.75 จุด หลังจากที่ช่วงต้นตลาดทำระดับอ่อนค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 95.673 จุด ขณะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นทำระดับสูงสุดรอบ 10 วันทำการ ท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ยังไม่ทำสถานะใดๆ ก่อนทราบผลการลงมติของรัฐสภาอังกฤษเกี่ยวกับกรณี Brexit
เมื่อคืนนี้ค่าเงินยูโรแข็งค่าใกล้ระดับสูงสุดรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 1.1438 ดอลลาร์/ยูโร และปิด +0.11% ที่ 1.1425 ดอลลาร์/ยูโร แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากทางเยอรมนีและฝรั่งเศสจะยังมีสัญญาณอ่อนตัว ขณะที่อีซีบีถูกคาดว่าจะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป
ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.33% ที่ระดับ 1.3158 ดอลลาร์/ปอนด์ หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วปรับแข็งค่าขึ้นในรอบกว่า 15 เดือน โดยสมาชิกรัฐสภาอังกฤษจะมีการลงมติเงื่อนไข Brexit กันในคืนนี้
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่ตอบรับกับการยุติภาวะ Shutdown ที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์ของทางสหรัฐฯ โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีปรับลงมาที่ 2.737% ขณะที่อัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ลงมาที่ 3.048%
อย่างไรก็ดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการกล่าวกับสำนักข่าว Wall Street Journal โดยระบุว่า ภาวะ Shutdown อาจเกิดขึ้นได้อีกครั้ง จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าทางสภาคองเกรสจะมีการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบการสร้างกำแพงพรมแดนตามที่นายทรัมป์ร้องขอไว้ได้หรือไม่ ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าภาวะ Shutdown ยาวนานเป็นวันที่ 35 ซึ่งสูงที่สุดในประวัติการณ์
· รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดการลงมติในข้อตกลง Brexit อีกครั้งในคืนวันอังคารนี้ โดยการลงมติครั้งนี้ ไม่ใช่การลงมติเพื่อนำข้อตกลงดังกล่าวไปใช้เป็นกฏหมาย แต่จะเป็นการตัดสินว่าจะอนุมัติให้นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามารถนำข้อตกลงดังกล่าวไปเจรจากับทางอียูใหม่ได้หรือไม่ รวมถึงจะมีการโต้วาทีภายในรัฐสภาอังกฤษเพื่อหาแนวทางปรับปรุงร่างข้อตกลงดังกล่าวภายในคืนเดียวกันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้อียูจะเคยยืนกรานว่าจะไม่ยอมเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง แต่ได้มีการส่งสัญญาณว่าอาจยอมเจรจาในบางประเด็นของข้อตกลงดังกล่าว หากนางเมย์กลับมาเจรจากับอียูใหม่อีกครั้ง ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนอังกฤษ ซึ่งทางอังกฤษจำเป็นต้องหาจุดยืนร่วมกันให้ได้เสียก่อน
· นายมาริโอ ดรากี้ ประธานอีซีบี ยังคงกล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจยูโรโซนย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังกดดันความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจยูโรโซน และอีซีบีพร้อมจะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทั้งหมดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ประกอบไปด้วยการกลับมาใช้นโยบายเข้าซื้อพันธบัตรหรือ QE ที่เพิ่งมีการส่งสัญญาณเมื่อไม่นานมานี้ ในการจะยกเลิกการเข้าซื้อพันธบัตรเป็นมูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านยูโร (2.9 ล้านล้านเหรียญ) จึงยิ่งเป็นการเน้นย้ำถึงสัญญาณใหม่ของอีซีบีที่มีท่าทีระมัดระวังมากขึ้น
· ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงท่ามกลางผลประกอบการภาคบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในจีนและสหรัฐฯออกมาอ่อนแอ จึงจุดประกายความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่อาจบั่นทอนให้อุปสงค์พลังงานปรับลดลง
น้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 1.7 เหรียญ คิดเป็น -3.2% ที่ระดับ 51.99 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ขณะที่น้ำมันดิบ Brent ปิดลดลง 1.71 เหรียญ คิดเป็น -2.8% ที่ระดับ 59.93 เหรียญ/บาร์เรล โดยเป็นการหลุดต่ำกว่า 60 เหรียญ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 สัปดาห์
· ทีมบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาเป็นวงกว้าง เมื่อคืนนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการส่งออกน้ำมันจากเวเนซุเอลาสู่สหรัฐฯ รวมถึงกดดันให้นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พิจารณาลาออกจากตำแหน่ง
ก่อนหน้าการประกาศมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นายฮวน กุยโด หัวหน้าฝ่ายค้านในรัฐบาลเวเนซุเอลาที่แต่งตั้งตัวเองเป็นรักษาการแทนประธานาธิบดี และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯและหลายๆประเทศในฝั่งตะวันตก ประกาศว่าจะมีการแต่งตั้งบอร์ดบริหารใหม่ให้กับบริษัท Citgo สาขาเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสาขาแม่อยู่ในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นายกุยโด ยังได้มีการเรียกร้องให้นายมาดูโรออกจากตำแหน่ง เพื่อที่เวเนซุเอลาจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรมขึ้นมาอีกครั้งได้