และถึงแม้ว่าภาพรวมจะเป็นภาวะแข็งค่าแต่ก็เป็นภาวะแข็งค่าอย่างจำกัดตราบเท่าที่ค่าเงินเยนยังทรงตัวเหนือ 109.05 เยน/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญของเส้น Fibonacci ขณะที่หากค่าเงินเยนหลุดแนวรับ 109.05 เยน/ดอลลาร์ก็อาจเห็นนักลงทุนรอที่จะกลับมาเทขายอีกครั้ง
· สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจแห่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการรายงานยอด GDP ของสหรัฐฯในไตรมาสที่ 4/2018 เนื่องจากภาวะ Shutdown ที่กินเวลาเกือบ 5 สัปดาห์เพิ่งหยุดลงเป็นการชั่วคราว
ภาวะ Shutdown ของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบให้การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆ ตั้งแต่ยอดค้าปลีกจนถึงภาคการก่อสร้างถูกเลื่อนการรายงานออกไป บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนจึงขาดปัจจัยชี้นำการลงทุนและประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ภาวะ Shutdown ที่เพิ่งจบลงเป็นการชั่วคราวเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ทำให้ตัวเลขด้านรายได้ในเดือน ธ.ค. ถูกเลื่อนการประกาศออกไปจากเดิมที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีนี้ เป็นวันอังคารสัปดาห์หน้าแทน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. ตั้งแต่ยอดสั่งซื้อสินค้า คงทน ยอดค้าปลีก ยอดก่อสร้าง และยอดขายที่อยู่อาศัย ถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายแลรี่ คุดโลว ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ได้ออกมากล่าวว่า ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯจะถูกประกาศภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานจะถูกประกาศในวันศุกร์สัปดาห์นี้
· รายงานจากสำนักข่าว Xinhua ระบุว่า ทีมตัวแทนการเจรจาค้าจากประเทศจีน นำโดยนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เดินทางมาถึงกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯแล้วในวันนี้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯในวันต่อไป
· นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าการเจรจาการค้ากับตัวแทนจีนในสัปดาห์นี้ จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทางการค้า “ที่ซับซ้อน” ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงจะพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงการค้าร่วมกัน
ทั้งนี้ การเจรจาจะจัดขึ้นในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ ณ กรุงวอชิงตัน ของสหรัฐฯ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจได้พบกับนายหลิว เห่อ โดยตรง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศที่มีท่าทีเลวร้ายลง
Eswar Prasad ศาสตราจารย์ Cornell University และอดีตประธานองค์กร IMF คาดการณ์ว่า การเจรจาของทั้งสองฝ่ายอาจนำไปสู่ข้อตกลง “เพียงส่วนหนึ่งหรือเป็นการชั่วคราว” เนื่องจากปัจจัยกดดันที่เกิดกับเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ อย่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความต้องการเสียงสนับสนุนทางการเมืองของนายทรัมป์
นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถหาจุดยืนร่วมกันได้ ดังนั้นโอกาสที่การเจรจาจะจบลงด้วยข้อตกลงที่มั่นคงและเป็นระยะยาว น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก
· กระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐฯประกาศฟ้องร้องบริษัท Huawei ของจีน ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ โดยอ้างว่าทาง Huawei มีการค้าขายร่วมกับอิหร่านผ่านบริษัทสาขาย่อยในอิหร่านและพยายามปกปิดมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังได้ฟ้องร้องในอีกข้อหาหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการขโมยเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากบริษัท T-Mobile ของสหรัฐฯ
ขณะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยระบุว่า การฟ้องร้อง Huawei เป็นไปด้วยความไม่ยุติธรรมและผิดจรรยาบรรณ
ส่วนทาง Huawei เองได้ออกมากล่าวแสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และยืนยันว่าทางบริษัทฯไม่มีการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรแต่อย่างใด พร้อมระบุว่าทางบริษัทฯได้มีการยื่นเรื่องเพื่อขอเจรจากับผู้มีอำนาจในกระทรวงฯ แต่ทางกระทรวงฯได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าวไปโดยไม่ได้ให้เหตุผลอะไรเลย
ทั้งนี้ การฟ้องร้อง Huawei อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับการเจรจาการค้าระหว่างตัวแทนจากสหรัฐฯและจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ แม้นายวิลบอร์ รอส รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แห่งสหรัฐฯ จะได้ออกมายืนยันว่า การฟ้องร้องดังกล่าว “ไม่เกี่ยวข้อง” กับการเจรจาแม้แต่น้อย
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเคยกล่าวว่า ตนจะเข้าแทรกแซงกรณีการจับกุม CEO ของ Huawei หากการจับกุมดังกล่าวกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงและการเจรจาการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
· รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดการลงมติในข้อตกลง Brexit อีกครั้งในคืนวันอังคานี้ โดยการลงมติครั้งนี้ ไม่ใช่การลงมติเพื่อนำข้อตกลงดังกล่าวไปใช้เป็นกฏหมาย แต่จะเป็นการตัดสินว่าจะอนุมัติให้นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามารถนำข้อตกลงดังกล่าวไปเจรจากับทางอียูใหม่ได้หรือไม่ รวมถึงจะมีการโต้วาทีภายในรัฐสภาอังกฤษเพื่อหาแนวทางปรับปรุงร่างข้อตกลงดังกล่าวภายในคืนเดียวกันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้อียูจะเคยยืนกรานว่าจะไม่ยอมเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง แต่ได้มีการส่งสัญญาณว่าอาจยอมเจรจาในบางประเด็นของข้อตกลงดังกล่าว หากนางเมย์กลับมาเจรจากับอียูใหม่อีกครั้ง ด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนอังกฤษ ซึ่งทางอังกฤษจำเป็นต้องหาจุดยืนร่วมกันให้ได้เสียก่อน
· ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น หลังสหรัฐฯประกาศนโยบายคว่ำบาตรน้ำมันจากเวเนซุเอลา เพื่อกดดันให้นายนิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พิจารณาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณอุปทานน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวสูงขึ้นไปมากกว่านี้
โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับสูงขึ้น 0.3% หรือ 13 เซนต์ ที่บริเวณ 52.12 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบ Brent ปรับสูงขึ้น 0.2% หรือ 12 เซนต์ ที่บริเวณ 60.05 เหรียญ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จาก OANDA ระบุว่า ปัญหาเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าจะมีมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกก็ตาม โดยปริมาณการผลิตน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการน้ำมันในสหรัฐฯอีก 2 ล้านบาร์เรล/วัน ทำให้ปริมาณน้ำมันของสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน ในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของปริมาณอุปสงค์ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย