· ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากกลุ่มนักลงทุนที่ยังคงตอบรับกับข้อมูลจ้างงานรัฐบาลสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆที่ช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์กลับทำระดับแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน โดยดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้น 0.26% ที่ระดับ 95.83 จุด
ค่าเงินยูโรปรับอ่อนค่าลงท่ามกลางกลุ่มนักลงทุนที่วิตกกังวลต่อภาวะความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยูโรโซน ประกอบกับความกังวลต่อแผน Brexit ที่ฉุดให้ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลง
อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์กลับมาอีกครั้งจากการที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยุโรป และการขยายมาตรการในจีนได้หนุนอุปสงค์ในค่าเงินดอลลาร์ แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
· ตลาดเอเชียส่วนใหญ่ปิดทำการในสัปดาห์นี้เนื่องในวันหยุดเทศกาล และคาดว่าดอลลาร์น่าจะยังได้รับผลเชิงบวกจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเมื่อไม่นานมานี้ที่ดูมีผลเชิงบวก
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางนักลงทุนที่ยังคงตอบรับกับข้อมูลเศรษฐกิจและภาคแรงงาน โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีปรับขึ้นมาที่ 2.72% และอัตราผลตอบแทนอายุ 30ปี ปรับขึ้นมาที่ 3.06%
· นางลอเร็ตต้า เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ระบุว่า แนวคิดของเฟดที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ไปก่อน ถือว่ามีความเหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่หากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เฟดอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบ้าง
โดยนางเมสเตอร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 2 – 2.5% แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่มากพอที่จะช่วยหนุนให้อัตราว่างงานอยู่แถวระดับปัจจุบันที่ 4% หรือต่ำกว่าได้ ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อว่า จะสามารถขยายตัวใกล้เป้าหมายของเฟดที่ 2% ได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจก็ยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นข้อพิพาททางการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะการเงินที่ตึงตัว และความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนที่อ่อนแอ ซึ่งหากปัจจัยเหล่านี้กดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอลงกว่าที่เฟดคาดไว้ เฟดอาจจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการดำเนินนโยบายกันใหม่อีกครั้ง
· Alex Wolf หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนประจำ J.P. Morgan ระบุว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่มุ่งหวังจะเข้ามาช่วยกอบกู้ให้เศรษฐกิจจีนสามารถรักษาการเติบโตท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น “ไม่ได้ผล”
โดยนักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้ เนื่องจากมาตรการที่ใช้ในปัจจุบัน ช่วยกระตุ้นผลผลิตหรือช่วยให้ความเชื่อมั่นกลับเข้ามาในตลาดได้เพียงนิดเดียวเท่านั้น และบางทีอาจไม่มีผลกระทบเลยเสียด้วยซ้ำ
· นายคริส เกรย์ลิงก์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแห่งอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Telegraph โดยยืนยันว่า อังกฤษจะไม่มีการเลื่อนกำหนดวันที่ถอนตัวออกจากอียู จากเดิมในวันที่ 29 มี.ค. อย่างแน่นอน โดยยืนยันว่า ทุกๆการประชุมของรัฐสภา ไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะขอขยายระยะของมาตรา 50 หรือการเลื่อนกำหนดการถอนตัวแต่อย่างใด
· กิจกรรมภาคบริการของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นในเดือนม.ค. ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความกังวลทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่และดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงได้จากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯและจีน
· รายงานจากกระทรวงต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ ระบุว่า ทีมเจรจาพิเศษทางการทูตนำโดยนายสเตเฟน บีกัน จะเดินทางไปยังกรุงเปียงหยางของเกาหลีเหนือ เพื่อร่วมเจรจากับตัวแทนของเกาหลีเหนือนำโดยนายคิม ฮอก ชอล เพื่อวางกำหนดการและแบบแผนที่ชัดเจนสำหรับการจัดการประชุมสุดยอดระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ภายในเดือน ก.พ. นี้
· ราคาน้ำมันดิบปิดปรับตัวลงหลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯจุดประกายความกังวลต่อภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ควบคู่กับข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่กำลังปรับตัวขึ้น โดยน้ำมันดิบ WTI ไปทำระดับสูงสุดปีนี้ที่ 55.75 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ 21 พ.ย. ก่อนที่จะปิดตลาดปรับลงมา 70 เซนต์ ที่ 54.56 เหรียญ/บาร์เรล หรือคิดเป็น -1.3%
สัญญาน้ำมันดิบ Brent ปิดปรับลง 24 เซนต์ ที่ระดับ 62.51 เหรียญ/บาร์เรล โดยระหว่างวันขึ้นไปทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมาบริเวณ 63.63 เหรียญ/บาร์เรล
ปัจจัยกดดันตลาดน้ำมันมาจากข้อมูลยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯร่วงลงเกินคาดในเดือนพ.ย. โดยเดิมอยู่ที่ -2.1% และล่าสุดออกมาที่ -0.6% ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวมาจากอุปสงค์ในกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากข้อมูลสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯของรัฐคุชชิงและรัฐโอกลาโฮมา ที่ปรับขึ้นเกินคาดแตะ 943,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว