· ดัชนีดาวโจนส์ปิดอ่อนตัวลงเล็กน้อยประมาณ 21.22 จุด ที่ระดับ 25,390.3 จุด และสิ้นสุดภาพการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 วันทำการก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิด -0.22% ที่ 2,731.62 จุด ยุติการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 5 วันทำการเช่นกัน ขณะเดียวกันดัชนีNasdaq ก็ปิด -0.36% ที่ 7,375.28 จุด ตามการร่วงลงของหุ้นบริษัท Facebook, Amazon, Netflix และ Google-parent Alphabet ที่ทั้งหมดอ่อนตัวลงไปไม่น้อยกว่า 0.36%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังตอบรับกับรายงานผลประกอบการที่ผสมผสานกัน ควบคู่กับถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯวานนี้
· ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผสมผสานกันเช้านี้ โดยดัชนีนิกเกอิเปิด -0.2% ขณะที่ Topix เปิด -0.46% ทางด้านดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้เปิด +0.26%
· รายงานของ CNBC ระบุว่า ถ้อยแถลงของนายทรัมป์เมื่อวานดูจะกล่าวถึง 3 ประเด็นหลักในเรื่องค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐาน, ราคายา และทางการค้า แต่ก็ดูเขาจะมีท่าทีที่อ่อนลงในเรื่องงบประมาณการก่อสร้างกำแพงพรมแดนเม็กซิโก โดยดูจะเป็นการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยมากกว่า ว่าการมีกำแพงพรมแดนมีความจำเป็นต่อสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ประกาศหรือมีท่าทีแข็งกร้าวข่มขู่เหมือนครั้งก่อน
สำหรับเรื่องการค้ากับจีนอยู่ระหว่างการหาข้อตกลงฉบับใหม่ที่ต้องเกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งจีนจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อยุติความไม่ยุติธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ และเรื่องยอดขาดดุลระหว่างกัน รวมไปถึงการปกป้องแรงงานชาวสหรัฐฯ
สำหรับความกังวลทางการค้าก็ยังคงมีอยู่และสร้างความสั่นคลอนให้แก่ตลาดการเงิน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ มีกำหนดเส้นตายการเจรจาร่วมกันให้แล้วเสร็จก่อนต้นเดืนอมี.ค.นี้
· นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 - 31.30 บาท/ดอลลาร์ โดยการแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลต่อค่าเงินบาทจำกัด แต่มาลงแรงหลังการประชุม กนง. ซึ่งผลโหวตที่ออกมา 4:2 เสียง เพราะมีกรรมการไม่ได้เข้าร่วมประชุม 1 ท่าน ทำให้คนคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าถ้าครบองค์ประชุมเสียงข้างน้อยจะไปอยู่ฝั่งไหน ขณะที่ธปท.ก็ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเงินบาทว่าแข็งค่าเกาะกลุ่มแต่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและจะเข้าดูแลหากแข็งค่าอย่างรวดเร็วผิดปกติ
· กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม
· ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทว่า ตั้งแต่สิ้นปี 61 จนถึงปัจจุบันแข็งค่า 4.1% ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ และไม่ได้เป็นเงินสกุลที่แข็งค่าที่สุดในโลก เพราะแข็งค่าน้อยกว่าอินโดนีเซียที่แข็งค่าไปถึง 4.3% อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการประเมินภาพเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง.จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาเข้าดูแลถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วผิดปกติจนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานและกระทบกับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
· ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 62 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.7 จาก 79.4 ในเดือน ธ.ค.61 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.7 จาก 66.3 ในเดือนก่อนหน้า พร้อมคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/62 มีโอกาสเติบโตถึง 4% รับผลดีจากกำหนดจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้มีการรณรงค์หาเสียงช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1-2 จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และทั้งปี 62 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึง 4.0-4.2%
· ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ก.พ.62 ดัชนีรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เม.ย.62) ปรับเพิ่มขึ้น 25.07% มาอยู่ที่ระดับ 116.76 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกในรอบ 4 เดือน และอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม (ช่วงค่าดัชนี 80-119)
· คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.1% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 4.3% โดยเป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่ถูกกระทบจากเรื่องส่งออก และการลงทุนภาครัฐ