· ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหลักส่วนใหญ่ และปิดภาพรวมสัปดาห์ที่ผ่านมาที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่เหล่าเทรดเดอร์บางส่วนกลับถือครองดอลลาร์ในฐานะ Safe-Haven จากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ค่าเงินยูโรปรับตัวลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปส่งสัญญาณชะลอตัว จึงฉุดรั้งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลงตาม ขณะที่วันหยุดยาวของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดมีความผันผวนลดลงไปบางส่วน
อย่างไรก็ดี ปีนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังถูกคาดการณ์ว่าจะเห็นการปรับอ่อนค่าลงมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินยูโรและค่าเงินเยน
ค่าเงินยูโรทรงตัวทำระดับต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์แถวระดับแนวรับ 1.13 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา 0.13% ที่ระดับ 96.634 จุด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีดอลลาร์ขยับขึ้น 1.1% และนับเป็นสัปดาห์ที่มีการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ปรับแข็งค่าได้กว่า 1.28% เมื่อ 10 ส.ค. ปี 2018
ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมา 0.13% ที่ระดับ 1.3230 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากที่ภาพรวมสัปดาห์ที่แล้วอ่อนค่าลงมา 1.1% ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่อ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.ย.
· อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวลงจากความกังวลทางเศรษฐกิจโลก ที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นแต่หนุนสินทรัพย์ปลอดภัยในเวลานี้ โดยอัตราผลตอบแทนอายุ 10ปี ปรับลงไปแถว 2.627% และอัตราผลตอบแทนอายุ 30 ปี ปรับลงไป 2.98%
· รายงานจาก Reuters ระบุว่า การเจรจาการค้าระหว่างตัวแทนของสหรัฐฯและจีนที่จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จะเริ่มต้นขึ้นภายในวันนี้ โดยทางสหรัฐฯจะพยายามกดดันให้จีนปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯที่ยืดเยื้อมายาวนาน เกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างทางการค้า เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ
ขณะที่ทางกระทรวงการคลังแห่งประเทศจีน ระบุว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนทางการค้าที่จะเริ่มต้นในวันนี้ จะดำเนินภายใต้หัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกัน และจะต่อยอดมาจากหัวข้อการเจรจาครั้งก่อน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด
· รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจีน เผย รายงานจากรอยเตอร์ส ระบุว่า กลุ่มผู้ค้าปลีกของจีนและผลประกอบการภาคธุรกิจมีรายได้สูงขึ้นกว่า 1 ล้านล้านหยวน (1.483 พันล้านเหรียญ) ในช่วงเทศกาลหยุดยาวในวันตรุษจีน แม้ว่าข้อมูลเศรษฐกิจจะบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัว แต่ข้อมูลล่าสุดก็เห็นถึงการปรับขึ้นของกลุ่มค้าปลีก 8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน
· กระทรวงพาณิชย์อังกฤษ เผยว่า อังกฤษและสวิสเซอร์แลนด์จะเซ็นสัญญาข้อตกลงร่วมกันทางการค้าในวันนี้สำหรับกรณีพิเศษหลังอังกฤษออกจากอียู และเพื่อเป็นการปกป้องความสัมพันธ์ทางการค้าร่วมกันที่คิดเป็นมูลค่า 3.2 หมื่นล้านปอนด์
รัฐสภาอังกฤษมีกำหนดจะโต้วาทีเกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ภายในวันที่ 14 ก.พ. ที่จะถึงนี้ แต่จะไม่ได้เป็นการลงมติว่าจะอนุมัติให้ข้อตกลงฉบับใหม่ที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรี นำกลับไปเจรจาร่วมกับทางอียู สามารถผ่านเป็นร่างกฏหมายได้หรือไม่แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่า นางเมย์จะสามารถบรรลุการเจรจาแก้ไขข้อตกลงร่วมกับอียูได้ทันวันที่ 13 ก.พ. หรือไม่
· นายเกวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแห่งอังกฤษ กล่าวเตือนว่า อังกฤษควรมีความพร้อมที่จะใช้กำลังทางทหารในการรักษาจุดยืนของประเทศหลังกรณี Brexit ท่ามกลางเส้นกั้นระหว่างความสงบสุขและสงครามที่เริ่มเห็นได้ชัดน้อยลง
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมจะมีการเปิดเผยแผนเกี่ยวกับการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินรบรุ่นใหม่สู่มหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงแผนการลงทุนในระบบโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงเสริมจุดยืนทางการทหารที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นหลังกรณี Brexit
ทั้งนี้ นายวิลเลียมสันได้กล่าวว่า อังกฤษสามารถหาพันธมิตรใหม่ๆรวมถึงกลับไปสานสัมพันธ์กับพันธมิตรเดิมได้ แต่อังกฤษจำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่า อังกฤษเป็นประเทศที่สามารถลงมือทำได้หากจำเป็น รวมถึงการที่พันธมิตรสามารถพึ่งพาได้ยามที่โลกจำเป็นต้องมีผู้นำ
· ความกังวลเกี่ยวกับภาวการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้สร้างแรงกดดันในตลาดน้ำมันด้วย แม้ว่าตลาดจะมีแรงหนุนจากกลุ่มโอเปกที่ร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่สหรัฐฯทำการคว่ำบาตรประเทศเวเนซุเอลาก็ตาม โดยน้ำมันดิบ WTI ปิดปรับขึ้นเล็กน้อย 8 เซนต์ ที่ระดับ 52.72 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ภาพรวมรายสัปดาห์ปรับลงไปกว่า 4.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดของปีนี้
ด้านน้ำมันดิบ Brent ปิดขยับขึ้น 51 เซนต์ ที่ 62.14 เหรียญ/บาร์เรล แต่ภาพรวมก็ปรับตัวลงไปประมาณ 1%
· นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ปีนี้ราคาน้ำมันก็น่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่หลังจากที่ร่วงลงไปอย่างหนักในปี 2014 พร้อมกันนี้ยังต้องระมัดระวังการใช้จ่ายเงินจากโครงการ White Elephant Project ต่างๆ โดยภาพรวมดูเหมือนผลกำไรจะปรับลง ขณะที่ยอดขาดดุลทางการเงินก็จะค่อยๆปรับตัวลง แม้ว่าจะมีสัญญาณการปฏิรูปทั้งภาคการใช้จ่ายและผลประกอบการควบคู่กันไปก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้ก็ดูจะทำให้ยอดหนี้สินพุ่งขึ้น จากระดับ 13% ของจีดีพีในปี 2013 กลายเป็น 33% ในปี 2018 ได้